วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อิทธิพลเบื้องล่าง


                การถือล่างถือบน ถือฤกษ์ถือยาม เช่น นิยมยึดถือกันว่า ศีรษะเป็นของสูง ส่วนเท้าเป็นของต่ำ ดังนั้น การก้มศีรษะให้แก่ใคร ก็เท่ากับเป็นการทำความเคารพ แม้การกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ก็ต้องให้ศีรษะจรดพื้นเป็นส่วนที่ห้า การลูบหัว เล่นหัวนั้น ถ้าไม่เป็นที่เคารพรักใคร่กันจริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ ส่วนเท้าที่ถือว่าเป็นของต่ำนั้นจำเป็นที่จะต้องสำรวมระวังอย่างยิ่งในการเหยียดย่างหรือยก หากไม่สำรวมระวังอาจส่อเป็นการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเท้าไม่ทำหน้าที่หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้ว ศีรษะเป็นของสูงก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้เช่นกัน
                รอบๆ ตัวเรานั้น มีบุคคลหลายระดับทั้งสูงและต่ำ อาจแบ่งได้เป็น ๖ จำพวก ตามทิศทั้ง ๖ คือ
                ๑. ปุรัตถิมทิศ       ทิศเบื้องหน้า        ได้แก่ บิดามารดา
                ๒. ทักขิณทิศ        ทิศเบื้องขวา          ได้แก่ ครูอาจารย์
                ๓. ปัจฉิมทิศ         ทิศเบื้องหลัง         ได้แก่ บุตร สามมี/ภรรยา
                ๔. อุตตรทิศ          ทิศเบื้องซ้าย          ได้แก่ มิตรสหาย
                ๕. เหฏฐิมทิศ       ทิศเบื้องล่าง          ได้แก่ คนรับใช้ และคนงาน
                ๖. อุปริมทิศ          ทิศเบื้องบน           ได้แก่ นักบวช
                จะเห็นได้ว่า คนรับใช้และคนงาน ถูกจัดอยู่ในทิศเบื้องล่าง หรือบุคคลระดับล่าง สังคมจะไม่ให้ความสำคัญเท่าใดนัก แต่ในความจริงแล้ว ถ้าไม่มีเบื้องล่าง เบื้องบนก็มีไม่ได้ เหมือนเจดีย์ มียอดได้ก็ต้องมีฐาน ถ้าเบื้องล่างมีปัญหาก็จะกระทบกระเทือนเบื้องบนด้วย เหตุนี้ ทางพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติสำหรับบำรุงดูแลบุคคลระดับล่างไว้ ๕ ประการ คือ ๑. จัดงานให้เหมาะกับคน ๒.ให้ค่าจ้างรางวังที่เหมาะสม ๓. จัดสวัสดิการดี ๔.มีน้ำใจแบ่งปันสิ่งดีๆ ๕.ให้มีวันหยุดพักผ่อน สันทนการตามควร
                ด้วยหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ประการ จะทำให้เบื้องล่างมั่นคง เบื้องบนดำรงมั่น สังคมเกิดภาวะสมดุลสอดคล้อง สงบสุข และยั่งยืนได้สืบต่อไป

....................................