น้ำใจ
คำว่า
“น้ำใจ” แม้จะเข้าใจตรงกันแล้วว่าหมายถึงใจจริง นิสัยใจคอและความเอื้อเฟื้อ
แต่ในแง่ของการใช้ถ้อยคำก็ชวนให้ฉงนว่า “น้ำ” ก็มีความหมายชัดเจนอย่างหนึ่ง “ใจ” ก็มีความหมายเฉพาะไปอีกอย่างหนึ่งเหตุใดเมื่อพูดถึงจิตใจที่ดีงามจึงต้องเอาคำว่าน้ำมาเกี่ยวข้องด้วย
เรื่องนี้ถ้าจะตีความเพื่อมุ่งให้เกิดแง่คิดที่เป็นประโยชน์
ก็น่าจะเป็นเพราะเพื่อให้คนที่ได้ยินได้ฟังและได้คิดไปพัฒนาจิตใจในด้านต่างๆ
โดยถือเอาคุณสมบัติของน้ำเป็นตัวอย่าง
๑.น้ำ มีลักษณะชุ่มเย็น
ใจก็ควรมีความเมตตา รู้จักเห็นอกเห็นใจ ชุ่มเย็นด้วยคุณธรรม
ไม่รุ่มร้อนด้วยริษยาอาฆาต เป็นต้น
๒.น้ำ รวมกันเป็นเนื้อเดียว
ใจก็ควรน้อมไปในความสามัคคี สมานน้ำใจ ไม่ถือดี ขัดแย้งแบ่งฝ่าย
แต่คิดไปในทางที่จะรวมพลังเพื่อการสร้างสรรค์ความดีให้เกิดขึ้น
๓.น้ำ บอกระดับได้เที่ยงตรง
ใช้วัดระดับของสิ่งต่างๆ ได้ ใจก็ควรเที่ยงธรรม
ปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยยึดความถูกต้อง อย่างเสมอหน้า ไม่ลุแก่อำนาจคติ
๔.น้ำปรับตัวเข้าได้กับทุกภาชนะ
ใจก็ควรรู้จักปรับให้เข้ากับสถานการณ์ รับรู้และเข้าใจตามเหตุผล ความจริง
ไม่ยึดติดเฉพาะความคิดของตน เวียนวนอยู่กับมานะและทิฐิ
แต่เปิดกว้างสำหรับเหตุผลเสมอ
น้ำเป็นที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตฉันใด
ผู้ที่ชุ่มเย็นด้วยเมตตา ใฝ่ความสามัคคี มีความเที่ยงธรรม และยอมตามเหตุตามผล
ก็เป็นที่ปรารถนาของโลกนี้ฉันนั้น เพราะเขาเป็นผู้มีน้ำใจ
เป็นผู้หล่อเลี้ยงโลกนี้ให้อยู่เป็นสุขได้นั่นเอง
............................................