วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การทำความเคารพ



                การทำความเคารพ เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญแก่หมู่คณะ ในทางทหารถึงกับกำหนดให้เป็นวินัยที่ต้องปฏิบัติ แต่การทำความเคารพเหตุผลว่าเป็นข้อกำหนด แม้จะเกิดผลดี แต่ก็ยังไม่ดีที่สุด ความเคารพที่ดีที่สุดต้องเป็นความเคารพที่ออกจากจิตใจ ได้แก่จิตใจที่มองเห็นความดีของผู้อื่นในด้านชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ และจิตใจเช่นนั้นก็กระตุ้นให้แสดงออกในรูปของการทำความเคารพ ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความเคารพชนิดนี้ ว่าจะเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลส ๔ ประการ คือ
                ๑. มักขะ ลบหลู่ความดีของผู้อื่น ทั้งๆ ที่ผู้อื่นมีความดี ก็มองไม่เห็นว่าจะดีอย่างไร เห็นไปว่าเป็นการยกย่องกันไปเอง เป็นเรื่องของค่านิยม หาสาระอะไรไม่ได้
                ๒. ปลาสะ ตีเสมอผู้อื่น คือแม้จะยอมรับว่าผู้อื่นมีดีจริง แต่ก็ยกตัวขึ้นเทียบว่ามีดีเท่ากับ ไม่เห็นมีอะไรแตกต่าง ทั้งที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
                ๓. ถัมภะ หัวดื้อ ไม่ฟังเหตุผลของใคร จนก่อความยุ่งยากวุ่นวายอยู่เนืองๆ
                ๔. อติมานะ ดูหมิ่นผู้อื่น เห็นว่าผู้อื่นเลวกว่าตนไปเสียหมด
                ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นกิเลสที่มีผลต่อบุคลิกภาพโดยตรง ทำให้เป็นที่รังเกียจระอาของผู้อื่น ทั้งตนเองก็ต้องคลาดจากความดีที่ควรจะได้ เพราะเป็นการตัดหนทางแห่งการพัฒนาศักยภาพและความคิดอ่านที่สูงขึ้นไปถึงจะมีความรู้ความสามารถเป็นทุนเดิมอยู่บ้าง แต่ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
                เพียงยกมือขึ้นทำความเคารพครั้งหนึ่ง แล้วเอามือลง ง่ายและสั้นจนแทบเรียกไม่ได้ว่าเป็นการลงทุนแต่ผลที่ได้นั้นมหาศาล เพราะเป็นที่มาของความนิยมศรัทธาจากผู้อื่นว่าเป็นผู้มีวินัย มีวัฒนธรรม รู้จักที่ต่ำที่สูง น่าคบหา ยิ่งเป็นการทำความเคารพที่ออกจากใจด้วยแล้ว ก็เท่ากับเป็นการยกระดับชีวิตจิตใจของตนเองให้สูงขึ้นในทุกขณะที่ทำนั่นเอง
............................................