ปัจจุบัน
โลกแห่งข้อมูลข่าวสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมวัฒนธรรม และความประพฤติของคนอย่างมาก จนบางครั้ง
เรื่องที่เคยถือกันว่าผิด น่ารังเกียจละอายก็กลายเป็นเรื่องปกติไป และเมื่อเป็นเรื่องปกติธรรมดาก็ทำให้ยอมรับกันมากขึ้นจนกลายเป็นสิ่งถูกต้องไปก็มี
ยิ่งผนวกเข้ากับกระแสแห่งธุรกิจและการตลาดชนิดที่ขาดศีลธรรม
ซึ่งอุดมไปด้วยวิธีการและชั้นเชิงที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ตนด้วยแล้ว
ผู้ที่อ่อนด้อยก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่าย อย่างน้อยก็ถูกครอบงำทางปัญญาจนไม่แน่ใจว่าอะไรถูกอะไรผิด
อะไรสำควรอะไรไม่สมควร ในกาลามสูตร มีเกณฑ์ตัดสินว่าเรื่องใดดีหรือชั่ว
ด้วยการให้ตั้งคำถามต่อเรื่องนั้นๆ ขึ้นว่า
๑.อกุสลา เป็นอกุศลหรือไม่
คือบั่นทอนความดี ปิดกั้นสติปัญญาหรือไม่ ทำอย่างนั้นเชื่ออย่างนั้นแล้ว เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้น
หรือกดตัวเองให้ต่ำลง
๒.สาวัชชา มีโทษหรือไม่
ทั้งโทษทางสุขภาพร่างกาย โทษทางกฎหมาย และโทษทางสังคม
๓.วิญญุครหิตา
บัณฑิตติเตียนหรือไม่
เพราะสิ่งใดที่ผู้มีความรู้และมีความประพฤติดีตำหนิติเตียนสิ่งนั้นย่อมเป็นเรื่องดีไปไม่ได้แน่
๔.ทุกขายะ สังวัตตันติ
เมื่อประพฤติบ่อยๆ จะก่อความทุกข์หรือไม่
เพราะความชั่วบางอย่างต่อเมื่อติดพันหมกมุ่นมากเข้าจึงเกิดโทษมหันต์
การจะตัดสินว่าอะไรดีหรือชั่วจึงต้องเล็งผลในอนาคตด้วย
สิ่งที่มาพร้อมกับความเจริญของโลกย่อมมีทั้งชั่ว
ทั้งดี และทั้งชั่วที่แฝงมาในรูปของดี แต่ไม่ว่าจะแฝงมาลึกซึ้งแนบเนียนแค่ไหน
เกณฑ์ตัดสินทั้งสี่ข้อนี้
จะเป็นเครื่องวินิจฉัยเหมาะที่จะเป็นคู่มือสำหรับใช้ในชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
หากฉุกคิดและพิจารณาตาม
............................................