วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

ปฏิสันถาร


 ปฏิสันถาร
                คำว่า “ปฏิสันถาร” หมายถึง การต้อนรับตามมารยาทและธรรมเนียมที่มีอยู่ แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “ปฏิสันถาร” มากกว่านั้น ถึงกับยกขึ้นเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่เรียกว่า “ปฏิสันถารคารวตา” หมายถึง ปฏิสันถารนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคารพ ทำอย่างระมัดระวังไม่ให้บกพร่องเสียหาย และเป็นเรื่องที่ต้องออกจากใจ ไม่ใช่เป็นเพียงปฏิบัติตามธรรมเนียม พร้อมกันนั้น ก็แนะวิธีการไว้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ
     ๑.อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของ เช่น เครื่องดื่ม ข้าวปลาอาหาร ที่พัก ที่อาศัย ฯลฯ
     ๒.ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม ได้แก่ ความดีงามที่จะพึงปฏิบัติต่อผู้มาเยือน เริ่มตั้งแต่เต็มใจต้อนรับ ปราศรัยโดยสุภาพไพเราะ เอาใจใส่ช่วยเหลือธุระของเขา ฯลฯ
                ในหน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานที่ต้องติดต่อสัมพันธ์ ทั้งกับบุคคลทั่วไปหรือประชาชนในลักษณะให้บริการ ทั้งกับหน่วยราชการด้วยกันเอง ในลักษณะการติดต่อประสานงาน ปฏิสันถาร จึงเป็นหัวข้อที่ข้าราชการควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธัมมปฏิสันถารคือ ความดีงามที่พึงปฏิบัติต่อผู้มาเยือน เพราะแสดงถึงระดับของการพัฒนาองค์กร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และคุณธรรมที่มีในหัวใจของบุคลากรในหน่วยงาน นอกจากนั้นยังเป็นบ่อเกิดแห่งมิตรภาพ ความประทับใจ นำมาซึ่งความรักใคร่กลมเกลียว พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต เป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ประโยชน์มากมาย และคุ้มค่า
                เมื่อมีผู้อื่นเข้ามาพบ ไม่ว่าจะต้อนรับดีหรือไม่ดีก็ใช้เวลาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ประทับอยู่ในใจของผู้มาเยือนทั้งด้านบวกและลบจะคงอยู่ยาวนาน หลายเดือนหลายปี บางครั้งคงอยู่ชั่วชีวิตการปฏิสันถารจึงเป็นเหมือนการพิพากษาตัวเองต่อหน้าผู้อื่นนั่นเอง
............................................