วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ชีวิตกับความสันโดษ


                ในบรรดาคำสอนที่มีผู้เข้าใจผิดนั้น ความสันโดษนับเป็นคำสอนหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมอยู่ เช่น เข้าใจว่าความสันโดษ คือความมักน้อยไม่อยากได้อะไรมาก บางคนเข้าใจว่า ความสันโดษทำให้คนเกียจคร้าน ทำให้ประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า เป็นต้น
                คำว่า “สันโดษ” ในทางธรรมหมายถึง การมีความสุขความพอใจกับสิ่งที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันสุจริต ไม่โลภไม่ริษยาใคร ผู้มีสันโดษในหัวใจจะรู้สึกรักใคร่อิ่มใจในสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง เช่น รักชาติ รักครอบครัว รักหน้าที่ รักเกียรติของตน ในทางพุทธศาสนาจำแนกสันโดษไว้ ๓ ประการ คือ
                ๑. ยถาลาภสันโดษ แปลว่า ยินดีในสิ่งทั้งหลายตามที่ได้ เป็นความรู้สึกพอใจ อิ่มใจกับสิ่งที่ตนได้รับ ยถาลาภสันโดษนี้ เมื่อซึมซับอยู่ในใจของใครแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นไม่โลภ ไม่อิจฉาริษยาคนอื่น ไม่รู้สึกเดือดร้อนเพราะไม่ได้อย่างใจ ผู้ขาดสันโดษข้อนี้จะหิวโหยอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ตนได้นั้นไม่ดี ที่ดียังไม่ได้
                ๒. ยถาพลสันโดษ แปลว่า ยินดีตามกำลัง เป็นความรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ได้มาตามความรู้ความสามารถของตน ซึ่งได้ทำลงไปเต็มสติกำลังแล้ว รวมไปถึงการใช้สอยที่เหมาะแก่ความจำเป็น
                ๓. ยถาสารุปปสันโดษ แปลว่า ยินดีตามสมควร คือ สมควรแก่สถานภาพที่ต้องมีอยู่ เป็นอยู่ ในทางปฏิบัติ ก็หมายถึงการรู้ตัวฐานะอย่างเรา ควรมีควรใช้อะไรแค่ไหน อย่างไร เมื่อมีเมื่อใช้สิ่งที่เหมาะสมแก่ฐานะของตัวก็พอใจอิ่มใจ ไม่รู้สึกน้อยหน้าใคร ผู้ขาดสันโดษข้อนี้ชีวิตจะขาดความพอดีอยู่เสมอ
                สันโดษ ๓ ประการนี้ มีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ปฏิบัติรู้จักบริโภคใช้สอยสิ่งของด้วยสติปัญญา ให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนได้มาหรือมีอยู่ จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตไม่น้อย ผู้มีสันโดษดังกล่าวมา จะช่วยให้ชีวิตมีปัญหาน้อยลง มีความสุขมากขึ้น คนมีคู่ครองถ้ารู้จักสันโดษในคู่ของตนก็จะทำให้ครอบครัวพบแต่ความสงบสุขตลอดไป

.........................................