วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

เครื่องกรองอารมณ์


                ในแต่ละวันเราจะได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง บางเรื่องทำให้ใจฟูขึ้น บางเรื่องทำให้ใจฝ่อลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของผู้รับข้อมูลว่ามีการพิจารณาใคร่ครวญและอดทนมากน้อยเพียรไร แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้เห็นหรือได้ฟังแต่ละครั้ง ย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจไม่มากก็น้อย หากเป็นเรื่องไกลตัว จะดีหรือร้ายก็อาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวก็อาจทำให้รู้สึกเป็นสุขหรือเศร้าได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้พบเห็นอะไรหรือได้ฟังอะไรแล้วจึงไม่ควรด่วนสรุปว่า คงเป็นอย่างนี้ หรือคงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด หลักปฏิบัติก็คือ เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วจะต้องใช้หลักที่พระท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือพิจารณาใคร่ครวญโดยอุบายอันแยบคายเสียก่อน ตรงกับหลักพุทธภาษิตว่า นิสัมมะ กะระณัง เสยโย แปลว่า ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า หรือคำโบราณที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าจำไว้ในใจ” ล้วนเป็นคำสอนที่ให้ใช้ความรอบคอบ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจเข้าใจผิด และตัดสินใจผิดพลาดส่งผลเสียหายต่อการดำเนินชีวิตได้ จึงต้องมีสติ ยั้งคิด พินิจให้รอบคอบก่อน ก่อนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะสังคมปัจจุบันมีสิ่งที่ลวงตามากมาย อาจทำให้หลงผิด แล้วยึดติดโดยมิทันรู้ตัว
                ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาดี เมื่อได้รับข้อมูลมา จะโดยการได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม จะต้องกลั่นกรองให้รอบคอบก่อน จึงค่อยตัดสินใจ เพราะผู้มีใจหนักแน่นในเหตุผล ยิ่งมีความอดทนและแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะดำรงตนอยู่ในฐานะใดๆ ก็จะไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ที่ปรากฏ ทั้งฝ่ายดีหรือฝ่ายเสีย แต่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นกลางเที่ยง ธรรมสม่ำเสมอ ไม่ทำให้ต้องเสียศูนย์ อันจะเป็นเหตุให้สูญเสียความถูกต้องดีงามทั้งปวง

.............................................