วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ความดี ๔ ระดับ


                พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงระดับความดีของคนไว้เป็นขั้นๆ โดยกำหนดเอาลักษณะอุปนิสัยผู้นั้นแสดงออกมาเป็นเกณฑ์กำหนด ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่า ใครมีลักษณะนิสัยอย่างไร เป็นคนประเภทไหน ควรคบหรือไม่ควรคบ ควรเลือกเป็นสามี ภรรยาหรือไม่ควรอย่างไร  ซึ่งมีอยู่ ๔ ระดับด้วยกัน คือ
                ๑.ผู้มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงาน ไม่เกียจคร้าน หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอย มีความรับผิดชอบในการทำมาหากิน คนประเภทนี้ชื่อว่ามีความดีในระดับต้น เพราะความขยันอย่างนี้ทำได้ไม่ยากนัก
                ๒.ผู้มีอาหารหรือมีของกินอะไรแล้วคิดถึงคนอื่น เช่น คิดถึงบุพการีชน คิดถึงญาติมิตรหรือคิดถึงคนที่เคยอุปการะตนมา เป็นต้น ต้องการให้คนเหล่านั้นได้ลิ้มรสของนั้นบ้าง แล้วก็จัดแจงแจกแบ่งไปให้ตามสมควร คนประเภทนี้เรียกว่าเป็นคนมีน้ำใจ มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อ จัดว่ามีความดีในระดับสอง เพราะทำได้ยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
                ๓.ผู้ได้ลาภผลอะไรแล้วไม่หลงระเริงดีใจจนเกินเหตุ เช่น ได้ยศ ได้ตำแหน่งมาก็ไม่แสดงอาการฟูขึ้น คือไม่ลิงโลดจนออกนอกหน้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นคนตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรม ไม่อาจวางใจเฉยได้ คนที่ได้อะไรแล้วหลงระเริงหลงติดหรือตกเป็นทาสของสิ่งนั้น เวลาเสื่อมลาภจะทุกข์ระทมหนักพอๆ กับดีใจเมื่อได้ลาภ ผู้ที่ไม่หลงระเริงดีใจจนเกินเหตุเมื่อได้ลาภผลอย่างนี้ จัดว่ามีความดีในระดับสาม
                ๔.ผู้ประสบกับความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เสื่อมลาภที่ตนได้มา หรือต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักของตน ก็ไม่ลำบากใจและไม่เสียใจจนเกินควร สามารถทำใจให้เป็นปกติ ตั้งสติได้มั่นคง คนที่ทำได้อย่างนี้จัดว่ามีความดีระดับสี่ ซึ่งสูงที่สุดในจำพวกความดี ๔ ระดับ เพราะทำได้ยากยิ่ง
                ใครจะมีความดีระดับไหน ก็ลองนำจิตใจและอุปนิสัยที่แท้จริงของตนเองขึ้นมาวัดกับความดีทั้ง ๔ นี้ซึ่งเป็นเสมือนตาชั่ง ก็จะสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง และเมื่อรู้แล้วจะได้เกิดความภูมิใจว่าตนมีความดีอยู่ในระดับใด หรือถ้าหากชั่งดูแล้วยังไม่ติดอันดับ ก็จะได้ยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น เพื่อจะได้ติดอันดับความดีกับเขาบ้าง อย่างน้อยสักระดับหนึ่ง

.............................................