เดิมที มนุษย์สามารถที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง
สิ่งที่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกก็แค่ปัจจัยสี่เท่านั้น คือ กินเมื่อหิว
มีที่อยู่อาศัยกันแดดฝน มีเครื่องนุ่งห่มปิดกาย และมียารักษาเมื่อเจ็บป่วย ต่อมาก็เริ่มมีการแสวงหาสิ่งที่เป็นส่วนเกินจากปัจจัยที่จำเป็นต่อการยังชีพเพิ่มเข้าเรื่อยๆ
โดยพยายามแสงหาทรัพย์สินเงินทองให้ได้มากๆ ด้วยวิธีต่างๆ
แม้วิธีการแสวงหาทรัพย์บางอย่างอาจจะไม่ถูกต้องก็ตาม ในที่สุดก็เป็นการสร้างสมบัติ
การสั่งสม รู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ครอง ทำให้ยึดติด จนกลายเป็นว่าความสุขของมนุษย์
ต้องขึ้นอยู่ที่ว่ามีสมบัติส่วนเกินนี้ไว้เสพเสวยเท่าไร
ลำพังตัวมนุษย์เองไม่สามารถสร้างความสุขให้เกิดได้
เป็นการกดตัวเองให้จมดิ่งในบริโภคนิยม ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
มีเกณฑ์ง่ายๆ เพื่อสำรวจความคิดที่มีต่อปัจจัยส่วนเกินนี้
ว่าได้ตกไปสู่บริโภคนิยมเพียงใด แบ่งเป็นสามระดับคือ
ระดับที่หนึ่ง
ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ เป็นระดับที่เสียอิสรภาพ
เพราะถูกบังคับให้ต้องดิ้นรนเอามาให้ได้ ถ้าไม่ได้ชีวิตก็ไร้ความสุข
แต่มีแนวโน้มว่าถึงได้มาจริง ก็จะยังไม่พอง่ายๆ ต้องดิ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ
ระดับที่สอง
มีก็ดี ไม่มีก็ได้ เป็นระดับที่เห็นอิสรภาพ
เพราะปัจจัยส่วนเกินนั้นไม่ใช่ทางเดียวของความสุขของเขา ถ้ามีก็เกิดความสุข
แต่ถ้าไม่มีก็ยังหาความสุขให้กับชีวิตได้อยู่
ระดับที่สาม
มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เป็นระดับที่มีอิสรภาพ เป็นการนำชีวิตเข้าถึงคุณค่าแท้
จนรู้สึกว่ามีก็ได้คือไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว แต่ถ้าไม่มีจะดีกว่า
เพราะไม่เป็นภาระต่อการปลดเปลื้องจิตใจที่บริสุทธิ์ สงบเย็น
ถ้าคิดว่ามีก็ดี
ไม่มีก็ได้ หรือคิดว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดีปัจจัยส่วนเกินก็มีหน้าที่รับใช้ชีวิต
แต่ถ้าคิดว่า ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ ชีวิตก็เป็นเครื่องรับใช้ปัจจัยส่วนเกิน
กลายเป็นมนุษย์ที่ยอมจำนนต่อวัตถุ นับเป็นความสูญเสียอย่างถึงที่สุดทีเดียว
............................................