วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

๓ อย่างของดีชั่ว และ ความฉลาด

ดีชั่ว ๓ อย่าง
                ถ้ามนุษย์ทำดีต่อกัน ชีวิตจะมีสุข และโลกก็น่าอยู่ ถ้าทำชั่วต่อกัน ชีวิตก็เป็นทุกข์ โลกก็จะลุกเป็นไฟ ความจริงข้อนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้ จึงมีผู้รู้พยายามสนับสนุนให้คนเว้นชั่วและทำดีต่อกัน โดยแยกการปฏิบัติให้เห็นชัดเจนเป็น ๓ ระดับ คือ
                ๑.อย่าทำชั่วตอบสนองความชั่ว คือ อย่าเอาความชั่วเข้าต่อสู้กับความชั่ว เช่น ผูกใจเจ็บไว้ แล้วคิดแก้แค้นผู้ที่ทำชั่วต่อตน การกระทำเช่นนี้เป็นการผูกเวรอย่างไม่รู้จบสิ้น จะเกิดทุกข์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เข้าทำนอง “สาดน้ำรดกัน” ต่างคนก็ต่างเปียก หรือเหมือนกับการล้างของที่สกปรกด้วยน้ำสกปรก ก็จะไม่ทางที่จะสะอาด
                ๒.อย่าทำชั่วตอบสนองความดี คืออย่าคิดร้ายต่อผู้ที่ทำดีต่อเรา เช่น เนรคุณต่อผู้มีบุญคุณ เปรียบเหมือนเมื่อได้อาศัยร่มเงาของต้นไม้ใด ก็ไม่ควรไปหักกิ่งของต้นไม้นั้น หากเราอยู่ใต้ร่มของต้นไม้เพื่อพักอาศัย เมื่อเราหักกิ่งของต้นไม้ออกไป ร่มที่เราอาศัยก็จะหายไปด้วยจนไม่มีร่มเงาให้เราอาศัย
                ๓.อย่าทำชั่วแม้แต่ผู้ไม่ได้ทำอะไรต่อตนเลย คือ งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง
                ตรงกันข้าม มนุษย์เราทุกคนต้องทำดี ๓ ประการ ได้แก่
                ๑.ทำดีตอบสนองความชั่ว คือ ใช้ความดีชนะความชั่ว เช่น เอาเมตตาชนะความโกรธ เอาความมีน้ำใจชนะความเห็นแก่ตัว เป็นการลบล้างความชั่วให้หมดไป เปรียบเหมือนล้างของสกปรกด้วยน้ำสะอาด
                ๒.ทำดีตอบสนองความดี คือ ทำดีต่อผู้อื่นที่ทำดีกับตน คือ รู้จักบุญคุณของผู้มีอุปการะแล้วตอบแทน
                ๓.ทำดีแม้ต่อผู้มิได้ทำอะไรให้ตนเลย คือ ทำด้วยจิตใจที่รู้สึกนึกในความดี เช่น การเสียสละ การช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในภาวะที่ด้อยกว่า เป็นต้น
                ผู้ไม่ละชั่ว เหมือนคนที่ปล่อยให้ร่างกายสกปรก ผู้ที่แม้ละชั่วแล้วแต่ไม่ได้ทำดี ก็เหมือนคนที่ร่างกายสะอาดแต่ยังไม่ได้นุ่งห่มเสื้อผ้า จะเรียกว่าดีแท้ยังไม่ได้เสียทีเดียว ฉะนั้นต้องละชั่วแล้วหันมาทำดีไปพร้อมกันด้วยจึงจะเป็นคนดีจริง

............................................

ความฉลาด ๓ อย่าง
                ในโลกนี้มีคนที่ฉลาดหลักแหลมและเชี่ยวชาญในด้านวิชาการมากมายหลายสาขา แต่มีวิชาการในพุทธศาสนา ๓ สาขา ที่หาผู้ฉลาดและเชี่ยวชาญได้ยากคือ
                ๑.อายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในความเจริญ หมายถึง ผู้ที่รอบรู้แนวทางที่จะทำให้ตัวเองเจริญก้าวหน้าและรู้สาเหตุของความเจริญ ซึ่งจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิต และพัฒนาชีวิตให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
                ๒.อปายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในความเสื่อม หมายถึง ผู้ที่รอบรู้ แนวทางที่จะทำให้ตัวเองเสื่อมและรู้สาเหตุของความเสื่อม เพื่อจะได้หาทางป้องกันตัวเอง และคนรอบข้างไม่ให้เสื่อมจากคุณธรรม และความดีทั้งปวง
                ๓.อุปายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในอุบายต่างๆ หมายถึง ผู้ที่รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าได้อย่างดี และรู้วิธีที่จะจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และคนรอบข้างให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้อง
                ความฉลาดใน ๓ สาขานี้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญได้ และทำให้เกิดมีขึ้นได้โดยอาศัยหลัก
                                สุ มาจาก สุตะ คือ การฟัง ได้แก่การแสวงหาความรู้ในเหตุการณ์และวิชาการต่างๆ อยู่เสมอ
                                จิ มาจาก จินตะ คือเมื่อฟังแล้วก็ใครครวญพิจารณาเหตุผลด้วยปัญญา
                                ปุ มาจาก ปุจฉา คือ ถาม นั่นคือต้องสนใจค้นคว้าหาคำตอบให้ได้ ไม่ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ
                                ลิ มาจาก ลิขิต คือ จดบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อใช้อ้างอิงหรือเตือนความจำ
                ความสำเร็จ ความล้มเหลว สมหวัง ผิดหวัง  เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวาง ดังนั้น คนที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ไม่ฉลาดในความเจริญ ความเสื่อม และอุบายต่างๆ จึงมีโอกาสล้มเหลวในชีวิตค่อนข้างสูง
............................................