พลังแห่งสัจจะที่บริสุทธิ์
ในอดีตกาล
พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกคุ่ม อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
ต่อมาไม่นานไฟป่าได้ไหม้ป่าแถบนั้น สัตว์ป่านานาชนิดต่างหนีเอาตัวรอด
ขณะที่ไฟป่ากำลังลามเข้ามาใกล้รังนกคุ่มอยู่นั่นเอง พ่อแม่นกก็บินหนีเอาตัวรอด ปล่อยให้ลูกนกผจญชะตากรรมแต่เพียงลำพัง
นกคุ่มน้อยตื่นตระหนกและมองไม่เห็นทางรอด
ครั้นแล้วก็ระลึกถึงคุณของพ่อแม่ว่า
“พ่อแม่รักเรามากได้สร้างรังให้เราอยู่โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
และได้ป้อนอาหารเราโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เมื่อไฟป่าลุกลามมาถึง พ่อแม่ได้อยู่กับเราจนนาทีสุดท้าย
ส่วนนกอื่นๆ ได้บินหนีไปก่อนหน้านั้นแล้ว
ช่างเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูกจริงๆ
ขอให้พ่อแม่จงปลอดภัยและมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป”
พร้อมกันนั้นก็ฉุกคิดได้ถึง
“คุณแห่งศีลและคุณแห่งสัจจะตลอดจนคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีอยู่ในโลกนี้”
ลำดับนั้นนกคุ่มน้อยจึงได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและระลึกถึงสัจจะที่มีอยู่ในตนแล้วอธิษฐานจิตว่า
“เรามีปีกแต่บินไม่ได้ เรามีเท้าแต่เดินไม่ได้
พ่อแม่ของเราก็ออกไปหาอาหารดูก่อนไฟป่า ท่านจงถอยกลับไปเสียเถอะ” พอสิ้นแรงอธิษฐาน
ไฟป่าที่กำลังลามเข้ามาใกล้รังก็ดับไปราวกับปาฏิหาริย์
ชาดกเรื่องนี้ทำให้ทราบว่า
พลังแห่งสัจวาจาที่เกิดจากจิตใจและความประพฤติที่บริสุทธิ์
สามารถจะเปลี่ยนสิ่งที่เป็นภัยกลายเป็นมิตรหรือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นภัยได้
ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องท้าทายต่อความเชื่อในปัจจุบันแต่วิสัยผู้รู้ นอกจากจะไม่ด่วนเชื่อในสิ่งที่ตนยังพิสูจน์ไม่ได้แล้ว
ก็ย่อมไม่ด่วนปฏิเสธในสิ่งที่ตนยังพิสูจน์ไม่ได้เช่นกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม
มีข้อเท็จจริงที่อยู่เหนือการยอมรับหรือปฏิเสธอยู่อย่างหนึ่งก็คือ
การพัฒนาจิตใจและความประพฤติของตนให้บริสุทธิ์ ย่อมจะให้คุณประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตโดยไม่ต้องสงสัย
............................................
กำลังใจ
คำว่า “กำลังใจ”
มีความหมายสำคัญยิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เปรียบเทียบกับบุคคลใดในขณะนั้น
สำหรับคนทั่วๆ ไป กำลังใจทำให้เชื่อมั่นกระตือรือร้น พร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ในทุกๆ
อย่าง สำหรับทหาร
กำลังใจเป็นอำนาจการรบที่ยิ่งกว่าอาวุธ สำหรับคนเจ็บป่วย กำลังใจเป็นยาวิเศษ
สำหรับคนท้อแท้สิ้นหวัง กำลังใจเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้สดชื่นเข้มแข็ง สำหรับนักกีฬา
กำลังใจเป็นยากระตุ้นที่น่าอัศจรรย์ ฯลฯ
กำลังใจสามารถสร้างขึ้นในใจได้ ๒
ทางคือ
๑.โดยอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น
เมื่อสูญเสีย สิ้นหวัง ได้กำลังใจจากการเห็นใจ ปลอบโยน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
ได้กำลังใจจากการเยี่ยมเยียนห่วงใย เมื่อแข่งขัน ได้กำลังใจจากเสียงเชียร์
เมื่อทำคุณงานความดี ได้กำลังใจจากคำชมเชย
ซึ่งนับเป็นกำลังใจที่ต้องอิงอาศัยบุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นช่วยสร้างเสริมให้มีขึ้น
๒.โดยอาศัยปัจจัยภายใน คือ
ตนเองต้องเป็นผู้สร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นเอง ด้วยการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๒
แนวทางได้แก่
แนวทางแรก
ยึดหลักธรรมสำหรับประคองกำลังใจมิให้ตกต่ำ กล่าวคือ “หลักตถตา-ความเป็นเช่นนั้นเอง”
และหลักโลกธรรม ๘ ได้แก่ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์
ซึ่งจะทำให้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงว่า มีได้ต้องมีเสียควบคู่กันเสมอ
ไม่หลงใหลลืมตัวหรือท้อแท้สิ้นหวัง เพราะถูกโลกธรรมฝ่ายดีและฝ่ายเสียย่ำยี
ทั้งนี้ก็เพราะรู้เท่าทันตามหลักตถตาว่า โลกธรรมย่อมเป็นเช่นนั้นเอง
แนวทางที่สอง
ยึดหลักธรรมสำหรับส่งเสริมกำลังใจให้เข้มแข็ง คือ พลธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ศรัทธา
ความเชื่อมั่น วิริยะ ความเพียรพยายามมุ่มมั่นไม่ท้อแท้ สติ มีความรู้ตัว รอบคอบ
ไม่ประมาทในการเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ สมาธิ มีจิตใจมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน และ ปัญญา
ความรู้ความเข้าใจในเหตุผล ปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
อุปสรรคย่อมเกิดขึ้นได้เสมอทั้งในทางปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต
“กำลังใจ” จึงเป็นต้นเหตุพื้นฐานที่ทุกๆ คนต้องมีติดตัวไว้เสมอ
............................................