ความเห็นไม่ตรงกัน
ธรรมชาติของมนุษย์
เมื่ออยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน ย่อมมีการถกเถียงโต้แย้งกันเป็นธรรมดา
ประโยชน์ของการถกเถียงโต้แย้งก็คือ ทำให้มีโอกาสฉุกคิดและทบทวนให้รอบคอบยิ่งขึ้น
ที่สำคัญไม่กระทำเพื่อเอาชนะคะคานกัน เพราะจะทำให้เสียเวลาและเสียมิตรภาพไปเปล่าๆ
ดังนั้น เมื่อมีการโต้แย้งกันครั้งใด จึงควรยึดหลักสำคัญสามประการ คือ
๑.เป็นผู้พูดที่ดี
คือแสดงความเห็นด้วยถ้อยคำสุภาพ ตรงประเด็น ถูกเรื่องถูกราว
ให้ผู้ฟังกำหนดสาระและความมุ่งหมายของเรื่องที่พูดได้โดยง่าย
๒.เป็นผู้ฟังที่ดี คือเปิดใจกว้าง
ยินดีรับฟังความเห็นที่แม้จะขัดแย้งกับความคิดของตนและอดทนต่อการล่วงเกินด้วยคำพูดของผู้อื่น
๓.เป็นนักศึกษาที่ดี คือการโต้แย้งนั้น
ทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะต้องมุ่งเน้นค้นหาความจริง อยากได้ความจริงของปัญหานั้นๆ
ความอยากชนิดนี้มีมากเท่าใด ก็จะตัดความอยากเด่นอยากดัง
อยากเอาชนะคะคานหรือความอยากชนิดอื่นๆ ที่จะมีปิดบังการแสวงหาความจริงออกไป
เมื่อมีการโต้แย้งหรือความเห็นไม่ตรงกัน
มองผิวเผินเหมือนเป็นความแตกแยก
แต่มองในแง่ดีกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นเอกภาพ
เพราะเป็นเหตุให้แสวงหาความจริง และความจริงนั้นจะทำให้คนรวมเป็นหนึ่งได้
เหมือนคนร้อยคนไม่เคยรู้จักว่ารสเค็มเป็นอย่างไรมาก่อน ถ้าถามถึงรสเค็ม
ก็คงจะได้คำตอนที่แตกต่างและสันสนอย่างยิ่ง
แต่เมื่อใดให้อมเกลือคนละเม็ดแล้วบอกว่านี่คือรสเค็ม เขาจะรู้จักได้ทันที
ภายหลังเมื่อได้ฟังเพียงคิดถึงรสเค็ม ความคิดของคนร้อยคนจะมุ่งไปสู่จุดเดียวกัน
เข้าใจตรงกันหมดว่ารสเค็มเป็นอย่างไร ไม่ผิดเป้า ไม่แตกแยก
เพราะทุกคนเข้าถึงความจริงในเรื่องนี้มาแล้ว
และความจริงนั้นทำให้ความเข้าใจของเขารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ความจริงเป็นสิ่งที่ตรงกันหมด
แต่ความเห็นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันได้
เมื่อมีการถกเถียงขัดแย้งกันขึ้นควรทำวิกฤตให้เป็นโอกาส
ด้วยการเริ่มต้นแสวงหาความจริงเพื่อนำไปสู่เอภาพทางความคิดบนพื้นฐานของการเป็นผู้พูดที่ดี
เป็นผู้ฟังที่ดี และเป็นผู้ศึกษาสนใจใคร่รู้ที่ดี หากทำได้
ความเห็นที่แตกต่างก็จะเป็นคุณประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว
และจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เลย
............................................