วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เวลากับชีวิต


      บรรดาสิ่งมีค่าทั้งหลายในโลก ไม่มีอะไรที่จะมีค่าสูงสุดเท่ากับค่าของเวลา ของอื่นที่มีค่า เมื่อสูญหายไป อาจเอากลับคืนมาได้ แต่เวลานั้นถ้าเสียไปแล้วจะเอาคืนมาไม่ได้เลย  

       นักปราชญ์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตไว้ว่า คนเรานั้นถ้าถึงอายุครบ ๓ รอบ คือ ๓๖ ปี ยังไม่สามารถสร้างอนาคตที่แน่นอนให้กับตนเองแล้ว ก็เป็นการยากที่จะสร้างอนาคตขึ้นได้ อายุ ๓๖ ปีเป็นเกณฑ์แห่งการได้เสียของชีวิต ส่วนความสำเร็จอย่างอื่นในเวลาอื่นนอกจากนี้ท่านให้ถือว่าเป็นเรื่องตามมาภายหลัง ข้อสังเกตของนักปราชญ์นี้ แม้จะไม่ใช่สัจธรรมที่เป็นจริงกับคนทุกคนเสมอไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยเตือนสติให้เร่งสร้างชีวิตแข่งกับเวลาได้ โดยพิจารณาหลักการสำคัญ ๒ ประการคือ 

       ๑. เร่งทำกิจ คือรีบเร่งขวนขวายในกิจที่ทำ งานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อเลี้ยงชีพในโลกนี้อย่างมั่นคงและมีความสุขตามอัตภาพ

       ๒. พินิจความตาย เพราะการมุ่งแสวงหาปัจจัย ๔ ในเบื้องต้นนั้น ถึงจะได้มาอย่างสมบูรณ์พร้อมพรั่ง ก็หาใช่สาระแท้จริงของชีวิตไม่ อีกทั้งเอื้อประโยชน์ได้เฉพาะโลกนี้เท่านั้น จึงต้องพิจารณาให้เห็นว่า “มนุษย์ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ล่วงพ้นไปได้” แล้วรีบขวนขวายสร้างกุศลคุณงามความดีซึ่งเป็นสาระที่ยั่งยืนกว่า และเพื่อเป็นเสบียงในปรโลก ด้วยการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ละเว้นกรรมชั่ว ประกอบกรรมดี และทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ 

       เวลาแม้จะเป็นสิ่งมีคุณค่า แต่คุณค่าที่ว่านี้ก็มีเฉพาะผู้ที่รู้จักใช้เวลาเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักใช้เวลา แม้จะมีเวลามากมายเพียงใด ก็ใช้เวลานั้นเผาผลาญชีวิตให้สูญเปล่าโดยมิได้สร้างคุณประโยชน์อันใดให้เกิดขึ้นเลย ฉะนั้น ถ้าชีวิตก่อนหน้านี้ได้สูญเสียเปล่าโดยมิได้ทำประโยชน์แล้ว ก็พึงเร่งรีบทำประโยชน์ทั้งหลายให้ทันกับเวลาที่จะหมดไปโดยเร็วเถิด