วิธีปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติเตรียมดอกไม้
ธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย (ถ้ามี) ถ้าอุบาสก อุบาสิกา สมาทานศีล ๕ – ๘ ถ้าสามเณร
พระภิกษุมีความสงสัยในศีลก็แสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน
กล่าวคำนอบน้อมพระรัตนตรัย
(๓ ครั้ง)
นะโม
ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
กล่าวคำมอบตัว
อิมาหัง ภันเต ภะคะวะ อัตตะภาวัง
ภะคะวะโต ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ
ข้าพระองค์ของมอบอัตภาพร่างกายนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานฯ
คำสมาทานก่อนปฏิบัติ
อะหัง
วิปัสสนากัมมัฏฐานัง สมาทิยามิ (ว่า ๓ ครั้ง)
สัพพะทุกขะนิสสะระณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ
ข้าพเจ้าขอสมาทานวิปัสสนากัมมัฏฐาน
แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓
เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งกองทุกข์ทั้งปวง...เทอญ
สาธุ
สาธุ ข้าพเจ้าขออำนาจคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆ์เจ้า คุณบิดามารดา
คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ คุณทานบารมี คุณศีลบารมี
และบารมีทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอมรมมา ตั้งแต่อดีตชาติ และปัจจุบันชาตินี้
ขอกุศลเหล่านี้จงมาเป็นปัจจัย
ให้ข้าพเจ้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้สำเร็จให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
สมความปรารถนาทุกประการเทอญ
(การขึ้นกัมมัฏฐานควรมีดอกไม้
ธูป เทียน ใสพานไป ไปขึ้นกับพระพุทธรูปในบ้าน
ถ้าไม่มีก็นึกถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เรานับถือก็ได้)
การเดินจงกรม
ต่อจากนั้นลุกขึ้นเดินจงกรม
ยืนตัวตรงเอาสติมาทำความรู้สึกที่ตัวยืนแล้วกำหนดในใจว่า ยืนหนอๆ ๓ ครั้ง
เมื่อคิดอยากจะเดินไปข้างหน้าก็กำหนดในใจว่า อยากเดินหนอๆ ๓ ครั้ง แล้วกำหนดว่า
ขวาย่างหนอ (พอใจสั่งว่าขวา เท้าขวาเตรียมตัว พอบอกว่าย่าง
ก็ย่างออกไปข้างหน้าไม่เกินช่วงเท้า หรือไม่เกินครึ่งฟุต
พอเท้าเหยียบถึงพื้นก็ว่าหนอ) ซ้ายย่างหนอ ก็เช่นเดียวกัน พยายามทำให้ช้าๆ
ข้อสำคัญใจที่สั่งย่างกับเท้าที่ย่างให้ไปพร้อมกัน คือให้ทันกัน
ถ้าไม่ทันกันสมาธิก็ไม่เกิด เดินเรื่อยไปจนถึงที่สุด
เมื่อจะหันกลับก็ให้เอาเท้าชิดกันแล้วภาวนาว่า ยืนหนอ ๓ ครั้ง
เมื่ออยากหันกลับก็กำหนดว่า อยากกลับหนอ ๓ ครั้ง แล้วว่ากลับหนอๆๆ จนตรงทางที่เราจะเดินกลับ
(พอบอกว่ากลับ ก็ยกเท้ากลับมาชั่วระยะฝ่าเท้าหนึ่ง พอเท้าลงถึงพื้นก็ว่า หนอ
ทำอย่างนี้ทุกครั้ง) แล้วกำหนดว่า ยืนหนอๆ ๓ ครั้ง แล้วก็เดิน
ขาว-ย่าง-หนอ-ซ้าย-ย่าง-หนอ จนครบเวลาที่เรากำหนด ๑๕ นาที ๓๐ นาที
หรือจะนับเป็นเที่ยว ๕ เที่ยว หรือ ๑๐ เที่ยว ก็ได้
การนั่งสมาธิ
พอครบกำหนดแล้วก็ลงนั่ง
ในขณะนั้นอย่าเลยไปทำอย่างอื่น พอนั่งก็ให้กำหนดที่ตรงจะนั่งว่า ยืนหนอ ๓ ครั้ง
แล้วย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดว่า นั่งหนอ ๆ ๆ ๆ จนกว่าก้นจะถึงพื้น ขยับผ้าให้หลวม
เอาเท้าขวาทับเท้าซ้ายขัดสมาธิ เอามือขวาทับมือซ้ายให้หัวแม่มือจรดกัน
ยืดตัวให้ตรง เอาสติมาไว้ที่หน้าท้อง (อนึ่งถ้าบุคคลใดนั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็ให้นั่งพับเพียบ
ถ้าพับเพียบไม่ได้ก็ให้นั่งห้อยเท้าก็ได้)
เมื่อเอาสติมาไว้ที่หน้าท้องก็จะมีอาการเคลื่อนไหวของท้อง เมื่อท้องพองก็รู้
ท้องยุบก็รู้ แล้วก็ใช้สติกำหนดรู้ ตามอาการที่เกิดขึ้นนั้น
คือเมื่อสติรู้ว่าท้องพองก็ให้กำหนดในใจว่าพอง พอท้องหยุดพองก็ให้กำหนดว่าหนอ
เมื่อท้องเริ่มยุบก็ให้กำหนดว่า ยุบ พอสุดยุบก็วา หนอ
(ข้อสำคัญถ้าท้องยังไม่พองอย่าเพิ่งกำหนดว่าพอง
และเมื่อพอแล้วถ้ายังไม่สุดพองก็อย่าเพิ่งบอก หนอ ยุบก็เช่นเดียวกัน)
กำหนดอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้ การกำหนดวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ก็คือการกำหนดรูปนามนั่นเอง รูป ๒๘ คือ ร่างกายเรานี้เรียกว่ารูปจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒
นี้เป็นนาม ฉะนั้นเมื่อรูปเกิดเราก็กำหนดรูป
เมื่อนามเกิดเราก็กำหนดนามในขณะที่กำหนด พองหนอยุบหนออยู่นั้น ถ้าเกิดเวทนาขึ้นมา
เช่น เจ็บ ปวด คัน ขึ้นมาที่ใดที่หนึ่งก็ให้หยุดกำหนดพองยุบเอาไว้ก่อน
หันมากำหนดที่ปวดหรือเจ็บนั้นว่า ปวดหนอๆ ๆ หรือเจ็บหนอๆ ๆ
เรื่อยไปจนกว่าจะหายปวดหรือเจ็บ แต่ต้องเป็นความเจ็บปวดที่ชัดนะ มิใช่ว่าปวดนิดปวดหน่อยก็ทิ้งพองทิ้งยุบ
หมายความว่าใจจับอารมณ์ใดมากก็กำหนดอารมณ์นั้น บางทีเรากำหนดพอหนอยุบหนออยู่
เกิดความคิดขึ้นมา บางทีก็คิดถึงเรื่องอดีต บางครั้งก็เป็นเรื่องบาป บางครั้งก็เป็นเรื่องบุญ
บางครั้งก็คิดถึงเรื่องอนาคต เมื่อเกิดความคิดขึ้นมาเราต้องกำหนด คิดหนอๆๆ
จนกว่าความคิดหายไป พอหายไปแล้วก็กลับมากำหนดพองยุบใหม่ เอาพองยุบเป็นหลักพอมี
อารมณ์อื่นเกิดขึ้นก็ทิ้งหลักไปกำหนดอารมณ์นั้นๆ ในขณะที่ตั้งใจกำหนด
พองหนอยุบหนอนั้น เมื่อทำไปหลายๆ ครั้งแล้วลองถามตัวเองดูซิว่า พองหนอ กับยุบหนอ
มันอันเดียวกันหรือคนละอัน เอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาในจิตใจ
อย่าตอบตามสัญญาที่จะจำมาใช้ไม่ได้ ถ้าใจบอกว่าคนละอันละก้อ
ถามอีกว่าเวลาที่เรากำหนดพองหนอนั้น เราเอาใจไปคอยกำหดใจที่กำหนดรู้ว่าท้องพอง
กับท้องที่พองนั้นมันเป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน ถ้าความรู้สึกบอกว่าคนละอัน
ก็ให้ถามอีกว่า ใจที่รู้สึกว่าท้องพองกับใจที่รู้ว่าท้องยุบนั้นเป็นอันเดียวกันหรือคนละอันฯ