วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความเสื่อม


                คำว่า “เสื่อม” หมายถึง เสียไป ค่อยหมดไป หรือถอยความขลังลง หากอยู่หน้าคำใด จะทำให้คำนั้นด้อยค่าลง เช่น เสื่อมเกียรติ เสื่อมความจำ เสื่อมราคา และเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น จึงไม่มีใครปรารถนาจะให้เกิดกับชีวิตหรือสิ่งของเครื่องใช้ของตน
                พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงประเภทของความเสื่อมไว้ ๕ ประการคือ
                ๑.ความเสื่อมญาติ (ญาติพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีใครเหลียวแล หรือญาติตายหมดแล้ว ไม่มีที่พึ่ง ขาดความอบอุ่นจากหมู่ญาติ รู้สึกว้าเหว่เดียวดาย หดหู่
                ๒.ความเสื่อมสมบัติ (โภคะพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ประสบชะตากรรมจากที่เคยมั่งมีทรัพย์สินเงินทอง มีคนให้เกียรตินับหน้าถือตาในสังคม ต้องกลับกลายมาเป็นคนอยากจนเพราะทรัพย์ถึงคราววิบัติหมดไปจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม มีความทุกข์อย่างมหันต์ ยากที่จะทำใจ
                ๔.ความเสื่อมเพราะโรค (โรคะพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ถูกโรคภัยเบียดเบียนรุมเร้า มีความทุกข์ทรมานจากโรคภัย จะประกอบกิจการงานอันใดหรือเคลื่อนไหวร่างกายก็ไม่เหมือนปกติ ทำให้ขาดความสุขความสำราญทางร่างกาย
                ๔.ความเสื่อมศีล (สีละพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ไม่นำพาให้ความสำคัญหรือประพฤติตามหลักศีลธรรมโดยเห็นว่าศีลธรรมเป็นเรื่องล้าสมัย ถ่วงความเจริญก้าวหน้า จึงพากันเหยียบย่ำทำลาย ประพฤตินอกศีลนอกธรรม ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและสังคม
                ๕.ความเสื่อมทิฐิ (ทิฏฐิพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมคือผิดจากความเป็นจริง เช่น ไม่เชื่อว่า นรก สวรรค์ มีจริง ผลแห่งบาปบุญไม่มี เป็นต้น
                ความเสื่อมทั้ง ๕ นี้ ข้อ ๑ ๒ และ ๓ ไม่เป็นเหตุให้ผู้เสื่อมต้องตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ได้ เพราะเป็นความเสื่อมเฉพาะชีวิตนี้เท่านั้น ส่วนข้อ ๔ และ ๕ จัดเป็นความเสื่อมที่แท้จริง เพราะผู้ที่ไม่มีศีลธรรมหรือมีความเห็นผิดเท่านั้นที่สร้างอบายไว้สำหรับตน พึงทราบว่าหากมีคนเสื่อมศีลและเสื่อมทิฐิมากเท่าไร สังคมจะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายมากเท่านั้น

..................................