วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จิต สมาธิ


สมาธิ  เป็นการทำให้จิตสงบนิ่ง    เพราะปกติจิตเราไม่เคยสงบนิ่ง     ถ้าจิตสงบนิ่งจะทำให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต
จิตที่ไม่สงบนิ่ง   เปรียบเหมือนน้ำที่มีตะกอนแขวนลอย (นิวรณ์)  อยู่เต็มไปหมด   ถ้าเราทำให้น้ำนิ่งใส  เราจึงจะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำได้ (กิเลส)
พอจิตนิ่ง  เราจะเห็นกิเลส  ความไม่บริสุทธิ์  ที่ปรุงแต่งอยู่ในจิต 

คนไม่ทำสมาธิ  จะไม่รับรู้จิตในระดับของจิตใต้สำนึก  (เหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำ)   จริง ๆ จิตระดับนี้จะตอบโต้กับความรู้สึกที่ชอบ  (โลภ)    ไม่ชอบ (โกรธ)  หรือแม้แต่รู้สึกเฉย ๆ (หลง)  อยู่ตลอดเวลา        แล้วสั่งสมตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต  เหมือนหินดาน  เป็นกิเลสที่เรียกว่าอนุสัย  (สันดาน)  แก้ไขสันดานโดยการสั่งสอน    การคิดนึก  การห้ามกระทำ   ยากที่สุดเพราะจิตมันยึดไว้อย่างเหนียวแน่น

คนทำสมาธิ   เมื่อทำสมาธิได้ในระดับที่จิตนิ่ง  การรับรู้จะชัดเจน  และทำสมาธิลึกลงไปจนรับรู้การปรุงแต่งของจิตใต้สำนึกได้  เช่น เวลาที่จิตมีความโกรธ  (แม้เพียงเล็กน้อย แบบไม่พอใจ หงุดหงิด)  เจ้าตัวก็จะรับรู้ได้  เพราะมันจะมีอาการ   เช่น รู้สึกเป็นก้อน
จุกอก  จุกคอหอย  ร้อนเป็นก้อนแข็งในจิต  (แต่ละคนจะรู้สึกไม่เหมือนกัน)   บางคนอาจเห็นจิตตัวเองได้เหมือนตาเห็น  ว่าจิตเป็นสีแดงเวลาโกรธ  ซึ่งคนไม่ปฏิบัติจะรับรู้ไม่ได้  หรือได้บ้างแต่ไม่ชัดเจน
เวลาไปเห็นของอย่างหนึ่ง  แล้วชอบอยากได้  มันก็จะมีสภาวะของความโลภ  เข้ามาที่จิตมันเป็นความเหนี่ยวรั้ง   อึดอัดเกิดขึ้นให้รับรู้ได้   ชอบก็เหนี่ยวรั้งเป็นแรงดึงเข้ามา   ไม่ชอบก็ผลักไสเป็นแรงดันออกไป   ทุกอย่างจะรับรู้ได้เป็นสภาวะความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น ๆ แม้ไม่ได้หลับตาทำสมาธิ      จึงไม่ใช่จินตนาการ  เพราะรู้สึกจริงอยู่แบบตื่น ๆ ลืมตานี่แหละ

ที่เราต้องทำสมาธิ
เพราะเรารู้สึกได้เวลาที่กิเลสเกิด    ว่ามันมีความอึดอัด
 ความหนักเป็นก้อน ๆ   จะเรียกว่าก้อนทุกข์ก็ได้   แล้วใครจะอยากอยู่กับความรู้สึกอย่างนั้น  การทำสมาธิ และวิปัสสนา  จะช่วยให้เห็นสภาวะของกิเลส  การวิปัสสนา ช่วยสลาย ทำลายสภาพนั้น  จิตก็จะเคลียร์ใส  ว่าง  สะอาด
มันก็เหมือนได้กวาดบ้าน   ถูบ้าน  บ้านก็สะอาด

จะพ้นทุกข์ได้จริงมั้ย
จากประสบการณ์ตัวเอง  นั่งแบบไม่ขยับ หนึ่ง ชม. ขึ้นไป  มีความเจ็บปวด ทรมานมาก  แต่พอพิจารณาไปจนเห็นอุปาทาน  ความยึดของจิตว่าความปวดเป็นของเรา จิตมันตัดความยึด ปล่อยวางแบบยอมตาย ไม่มีตัวเรา ของเรา  จิตก็แยกออกมาเป็นอิสระ  ไม่ไปจมอยู่กับความปวด
       ความทุกข์จากความปวดมันก็ดับไม่เหลือ
 ความรับรู้ว่าปวดก็ยังอยู่นะเหมือนสายของความปวดไหลผ่านให้รับรู้  จิตแยกมารู้อยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปติดกับความปวดนั้น   ความปวดไม่ได้ถูกตีความว่าดีหรือไม่ดี  เป็นแค่สภาวธรรมให้จิตรับรู้     ไม่ได้นั่งหลับเพราะเสียงข้างนอกก็รับรู้  ไม่ได้จินตนาการเพราะปวดจริง
แต่จิตแยกออกมาจากความปวดได้  ไม่ทุกข์

เพราะเคยเห็น เคยรู้ว่า จิตแยกจากทุกข์ได้จริง  จึงเกิดศรัทธาในการปฏิบัติ  ทำให้ยิ่ง  ๆ ขึ้นไป  เพื่อให้จิตแยกตัวออกจากทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด  ไม่กลับมาติดกับทุกข์อีก    มีร่างกาย  ก็เจ็บป่วย เสื่อมสภาพไป
ตามธรรมดาโลก   แต่ต้องการฝึกจิตให้พ้นทุกข์แบบถาวรไม่ต้องเวียนตาย  เวียนเกิดอีก  เพราะถ้าเกิดก็เจอทุกข์แบบนี้ร่ำไป


ถ้าไม่ทำสมาธิ
จะเป็นคนที่พอรับผัสสะ  (เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส  กายสัมผัส)  ก็จะชอบบ้าง   ชังบ้าง  สะสมกิเลสตกตะกอนไปเรื่อย ๆ  จนกิเลสพอกจิต  ดำปี๋  เหมือนกระจกไม่ได้เช็ด มองอะไรก็บิดเบือนไปตามการปรุงแต่งของกิเลส    ตัวจิตเดิมที่ประภัสสรไม่มีโอกาสได้เกิดปัญญา   การเรียนรู้ที่จะขจัดกิเลส ก็ไม่มี 
พอทุกข์เรื่องใดก็ยึดว่าเป็นทุกข์ของตัวเอง แล้วก็แบกทุกข์ไว้  ใช้วิธีทางโลกแก้ทุกข์ไปได้เป็น
คราว ๆ  แล้วก็หลอกตัวเองว่าไม่มีทุกข์  (อันนี้แหละโมหะความหลงชัดเจน)
  
ทั้งนี้ สมาธิ มี ๒ แบบนะ  สัมมาสมาธิ  กับ มิจฉาสมาธิ
สัมมาสมาธิ  จะเป็นสมาธิแบบจิตตั้งมั่น เป็นกลาง รับรู้ทุกอย่างแบบไม่แทรกแซง   พัฒนาขึ้นไปเป็นกำลังแก่การวิปัสสนา 

มิจฉาสมาธิ  สมาธิให้สงบ บางทีสงบสุขอย่างเดียว  แล้วจิตก็ติดสมาธิแบบนี้     บางทีทำให้เกิดกำลังจิต  เอากำลังจิตไปใช้ในทางมิชอบ  อ่านใจคน  ครอบงำคนอื่น เพื่อลาภสักการะ