วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความเห็นแก่ตัวต้องห้าม


                หลายท่านคงเคยเห็นอักษรประดิษฐ์ว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีลักษณะงดงามน่าเลื่อมใส นอกจากจะใช้เป็นสื่อให้เกิดศรัทธา น้อมนำพุทธานุสติมาให้ใจยึดมั่น อันเป็น วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างพระพุทธรูปแล้ว ยังเป็นสื่อให้เกิดปัญญาอีกด้วย
                ความเห็นแก่ตัว มีบ่อเกิดมาจาก ความรักตัวเอง เพราะโดยธรรมชาติคนเรารักตัวกลัวตายด้วยกันทุกคน และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนเราต้องทำงานหาเงินและทำมาหากิน แม้จะอ้างว่าเป็นการรับผิดชอบทำมาหาเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อสาวลึกลงไปก็จะพบว่า มีสาเหตุมาจากความรักตัว กลัวตายอยู่คนเดียว ไม่มีใครคอยเลี้ยงดูเมื่อยามแก่เฒ่า นั่นเอง ความรักตัวนี้มีพุทธศาสนสุภาษิตยืนยันไว้ว่า “นัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง” แปลว่า ความรักอื่นเสมอด้วยรักตัวเองไม่มี จากความเห็นแก่ตัวดังกล่าว คนเราจึงแสดงพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอดในรูปแบบต่างๆ คือ กิน นอน กลัว และสืบพันธุ์ พฤติกรรมเหล่านี้มองในแง่ธรรมชาติก็เป็นทั้ง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของสัตว์โลก มิใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด
                ส่วนความเห็นแก่ตัว ชนิดที่ต้องเตือนกันว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” นั้น เป็นความเห็นแก่ตัวต้องห้ามทั้งโดยหลักกฎหมายและหลักศีลธรรม ตัวอย่างเช่น อย่าเห็นแก่ตัวเพราะการกิน เช่น อย่าโกงกิน อย่าลักขโมย อย่าเห็นแก่ตัวเพราะการนอน เช่น อย่านอนตื่นสาย อย่าเกียจคร้าน อย่าเห็นแก่ตัวเพราะความกลัว เช่น อย่ามีอคติ อย่ากลัวคนอื่นได้ดีกว่าตน อย่าเห็นแก่ตัวเพราะการสืบพันธุ์ เช่น สำส่อนทางเพศ  อย่าผิดผัวผิดเมียกัน
                ในฐานะมนุษย์ปุถุชนย่อมไม่มีใครที่ไม่เห็นแก่ตัว หลักพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ความเห็นแก่ตัวใดที่ไม่เป็นไปเพื่อการเอาเปรียบและผู้อื่นไม่เดือดร้อน ความเห็นแก่ตัวนั้นถูกต้องชอบธรรมตามวิสัยโลก แต่ความเห็นแก่ตัวใดเป็นไปเพื่อการเอารัดเอาเปรียบและทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความเห็นแก่ตัวนั้นต้องห้าม ดังที่มีการประดิษฐ์อักษรเป็นรูปพระพุทธรูปเตือนใจกันว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ที่หาดูได้ทั่วไป นั่นเอง

...................................