โบราณกล่าวว่า "แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้ เพราะคนเรา มีบุญวาสนา หรือบารมีไม่เท่ากัน ถึงแข่งกันไป ก็สู้กันไม่ได้ ปัญหามีอยู่ว่า คนมีบุญคือคนเช่นไร
ในทัศนะทางศาสนากล่าวว่า คนมีบุญคือ คนที่ได้ทำเหตุดีไว้มาก ได้สะสมความดี มาโดยตลอด ทั้งในอดีต และปัจจุบันกล่าวโดยรวบยอดก็คือ ได้สร้างเหตุแห่งบุญไว้ ๒ ประการ คือ
๑. เหตุในอดีต ที่เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา เป็นผู้เคยทำความดีมาก่อน กล่าวคือ ผู้ใดเคยสั่งสม อบรมบุญบารมี มาแต่ชาติปางก่อน เช่น เคยให้ทาน รักษาศีล อบรมภาวนา เคยช่วยเหลือ คนอื่นมามาก ดังเช่น พระเวสสันดร เป็นต้น เมื่อเกิดในชาตินี้ ผู้นั้นจึงได้รับ ผลดีตอบสนอง เช่น ทำให้เกิดมา ในตระกูลที่ร่ำรวย มีรูปร่างดีสมประกอบ มีสติปัญญาดี เป็นต้น หรือผู้ใดเคยทำ ความดีเช่นนั้นไว้ ในชาตินี้เอง แต่ทำมาตั้งแต่ สมัย เป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เช่น เคยมีความขยันอดทน มีความมัธยัสถ์ มีน้ำใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เคยช่วยเหลือ คนอื่นมามาก ก็ได้ชื่อว่าสร้างบุญ สร้างความดี มาก่อนเหมือนกัน และย่อมได้รับ ผลตอบสนอง ในสมัยอายุมากขึ้น หรือในตอนแก่ชรา
๒. เหตุปัจจุบัน ที่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ เป็นผู้ตั้งตนไว้โดยชอบ กล่าวคือ เป็นผู้ประพฤติตัวดี วางตัวดี ตั้งอยู่ในศีลธรรม ประกอบอาชีพโดยสุจริต มีความขยันอดทน อ่อนน้อม มีความซื่อสัตย์ จริงใจเป็นนิสัย เป็นต้น ผู้ที่วางตัว ประพฤติตนได้ อย่างนี้มาโดยตลอด ชื่อว่าได้สร้างเหตุ แห่งบุญไว้ดีแล้ว
ผู้ทำเหตุไว้ครบทั้งสองประการ เรียกว่า เป็นผู้มีบุญโดยแท้ ย่อมได้รับผล ตอบสนองในโลกนี้เอง กล่าวคือ
๑. อยู่ดี คืออยู่ที่ไหนก็อยู่สบาย ไม่มีใครรังเกียจ มีเพื่อนฝูงมิตรสหายมาก ไม่ถูกรังแก มีแต่คนไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นต้น
๒. ไปดี คือจะไปที่ไหน ก็ได้รับความสะดวก ได้รับความปลอดภัย ไม่มีอุปสรรค เทวดาตามรักษาคุ้มครอง ไปถึงไหนก็มี คนต้อนรับด้วยดี
๓. ได้ดี คือ จะทำอะไรก็สำเร็จ มีคนคอยช่วยเหลือ สามารถตั้งตัวได้เร็ว เจริญก้าวหน้า ในตำแหน่งหน้าที่ได้เร็ว กิจการต่างๆ ก็ดำเนินไปได้ดี และมักจะได้อะไรดีๆ ที่คนอื่นไม่ค่อยได้
เพราะฉะนั้น พระท่านจึงสอนว่า หากต้องการ เป็นคนมีบุญเช่นนี้บ้าง ก็จงประกอบบุญเถิด อย่าละเลยบุญ และอย่าประมาท ในชีวิตเลย
............................................