วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พลังสามัคคี

                 ในคนคนหนึ่งย่อมมีพลังเฉพาะตัวเพียงระดับหนึ่ง สามารถแบกหามได้เท่านั้น มองเห็นได้เท่านั้นคิดอ่านได้เท่านี้ คือเท่าที่ขอบเขตของตนเองจะสามารถทำได้ แต่ถ้าคนสองคนสามัคคีกันร่วมแรงร่วมใจกันพลังทั้งหมดนั้นก็จะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว พลังสามัคคีนี้ ดี ง่าย ไม่ต้องซื้อหา และไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าเป็นประโยชน์แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้น ในทางพระพุทธศาสนาได้มีแนวปฏิบัติตามหลักธรรมสี่ประการ ดังนี้

                ๑.เมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งทางการกระทำ ทางคำพูดและทางความคิดเพราะการอยู่ร่วมกับคนอื่น หรือกับคนหมู่มาก ย่อมมีข้อคิดเห็นและการกระทำที่ขัดแย้งกันได้ การมีเมตตาทำให้มีต้นทุนทางอารมณ์ที่ดี พร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างคนที่รักใคร่ เห็นอกเห็นใจกันและกัน

                ๒.สาธารณโภคี จัดสรรผลประโยชน์อย่างเสมอหน้าและเป็นธรรม ไม่มักมากเห็นแก่ตัว หรือพวกพ้องของตน เพราะผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งทุกยุคทุกสมัย

                ๓.สีลสามัญญตา มีความประพฤติเสมอกัน ถึงจะมีการกระทำต่างกันบ้าง แต่ต้องลงกันได้ภายในกรอบกติกา คือ ไม่ละเมิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนของส่วนรวมไม่ว่าจะทำเองหรือสนับสนุนผู้อื่น

                ๔.ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นเสมอกัน หากยังคิดให้ตรงกันไม่ได้ อย่างต่ำที่สุดก็ต้องเห็นให้เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า ความคิดที่ไม่ตรงกันนั้นแหละ เป็นสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องรับฟังและให้เกียรติกัน ความเห็นที่เสมอกันอย่างนี้ จะเป็นเครื่องยับยั้งไม่ให้ความคิดที่ไม่ตรงกันกลายเป็นอาวุธทิ่มแทงจนเกิดการแตกหักได้

                ถ้าคนสองคนสามัคคีกัน พลังที่มีก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พอจะพูดได้ว่าเหมือนหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองแต่ถ้าคนสองคนแตกสามัคคี เกลียดชังมุ่งร้ายกัน จะไม่ใช่สองหารสองแล้วกลับมาได้หนึ่งเหมือนเดิม เพราะจะเกิดการเบียดเบียนทำลายล้างกันเอง จนแม้แต่ศักยภาพและตัวตนที่มีอยู่เดิมก็จะย่อยยับลงไปด้วย ดังนั้นเมื่อเห็นประโยชน์ของความสามัคคีนั้นแล้ว ก็พึงดำรงตนไว้ในหลักธรรมทั้งสี่ข้างต้น

............................................