วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ผลบุญ


                 การทำบุญเป็นกิจกรรมที่มีอยู่ในทุกศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามีการทำบุญหลายวิธี เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น เป็นวิธีชักนำให้คนเข้าหาความดี การทำบุญนั้นไม่ว่าจะมีกรรมวิธีแตกต่างกันอย่างไร ก็ทำให้เกิดความดีที่เป็นผลรวมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือปิดกั้นอกุศล ไม่ให้ความชั่วได้ช่อง

                โดยธรรมชาติ ดีกับชั่วย่อมเป็นปฏิปักษ์กันเองอยู่ในตัว ขณะที่กำลังพูดไพเราะ จะไม่สามารถพูดคำหยาบได้ ขณะที่เกิดความรักอย่างท่วมท้นจะไม่สามารถโกรธได้ เมื่อเปิดช่องให้ความดีมากเท่าใด โอกาสของความชั่วก็น้อยลงเท่านั้น การทำบุญจึงไม่ใช่เป็นเพียงประเพณีหรือข้อบัญญัติที่เลื่อนลอย แต่มีผลดีต่อชีวิตจริงๆ อย่าน้อย ๒ ระยะคือ

                ระยะแรก ทำให้เกิดความสุขใจ บางคนพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง ความมีหน้าทีตาในสังคม แต่หาความสุขใจไม่ค่อยได้ ที่เป็นดังนั้นเพราะยังเข้าไม่ถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อะนะวัชชะสุข คือ สุขเกิดจากการไม่กระทำสิ่งที่มีโทษ ได้แก่ ความปลอดโปร่งใจ วางใจได้สนิทว่าไม่มีความผิดที่ต้องเดือดร้อนสะดุ้งระแวง มีความสงบเย็น ไม่ถูกทำร้ายแม้จากความรู้สึกของตัวเอง

                ระยะที่สอง ทำให้เกิดความมั่นใจ โดยเฉพาะความมั่นใจในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะคนที่ใกล้ตายจะต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติครอบครัว และญาติมิตรที่เคยเป็นที่พึ่งไว้เบื้องหลัง ครั้นมองไปข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปไหน เผชิญกับอะไร ตกอยู่ในสภาพอ้างว้างหวาดหวั่น เพราะไม่เห็นว่าสิ่งใดจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพิงได้ จึงมีแต่บุญหรือความดีเท่านั้น ที่จิตใจจะนึกหน่วงเอามาเป็นอารมณ์ ทำให้เกิดความภูมิใจและมีกำลังใจได้บุญที่ทำไว้จึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายจริงๆ

                การทำบุญไม่ว่าในศาสนาไหน ย่อมไม่ได้เป็นเพียงประเพณีเท่านั้น ทุกครั้งที่ทำ หมายถึงได้ปิดกั้นความชั่ว เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขใจและมั่นใจ ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นทันตาเห็น ไม่ใช่เรื่องควรรังเกียจหรือน่าเบื่อหน่ายแต่อย่างใด

............................................