วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ค่าของคน


                 เรามักได้ยินการพูดถึงค่าของคนอยู่เสมอ ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็นคนดีมีค่ากันทั้งนั้น ค่าของคนนั้นโดยมากก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าจะนำสิ่งใดมากำหนดว่าสมควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้างว่าจึงจะเรียกว่าค่าของคน ทั้งนี้ก็ขึ้นกับมุมมองในแง่ต่างๆ ในเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ แต่มีพื้นฐานตามทางธรรมได้บอกไว้อย่างน้อยสี่ข้อสำหรับพื้นฐานของค่าของคน ที่สมควรต้องมีและรักษาไว้ให้ได้ก่อน ดังนี้

                ๑.มองไกล ได้แก่มองอย่างทั่วถึงตลอดสาย เช่น เมื่อเห็นคนที่เจริญรุ่งเรือง หรือเห็นคนที่ตกต่ำหายนะก็ไม่มองแค่ความรุ่งเรืองหรือความตกต่ำที่ปรากฏ แต่มองต่อไปถึงการทำงาน วิธีคิด การดำรงตนที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น คือมองเข้าไปจนถึงเหตุปัจจัยลักษณะเด่นของคนๆ นั้น โดยต้องมีวิธีคิด ที่เรียกว่าคิดเป็น

                ๒.ใฝ่ดี คือดีด้วยความสมัครใจ ดีเพราะศรัทธาในความดี ดำเนินชีวิตด้วยความสุจริต ขยันหมั่นเพียร แม้จะมีสิ่งเย้า ก็ไม่หวั่นไหวตั้งมั่นในความดีนั้นๆ อย่างแน่วแน่

                ๓.ทำหน้าที่ถูกต้อง ปฏิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ ทั้งหน้าที่การงานและหน้าที่ที่มีต่อบุคคลรอบข้าง  หน้าที่พ่อหรือแม่ หน้าที่สามีหรือภรรยา หน้าที่ของลูก หน้าที่ต่อญาติมิตรและเพื่อนพร้อง หน้าที่ต่อเพื่อนร่วมงานในทุกระดับ ต้องรู้ถึงหน้าที่ที่ถูกต้องนี้จนรู้สึกว่าไม่มีสิ่งไหนที่ควรต้องทำแต่ต้องทำให้เป็นหน้าที่ แม้บางเรื่องจะยังทำไม่สำเร็จก็ต้องไม่ละทิ้ง

                ๔.อยู่ในครรลองแห่งแบบแผน คือมีระเบียบวินัยเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่ให้ชีวิตผ่านไปวันๆ ตามอำเภอใจ หรือกำหนดกฎเกณฑ์จนอยากที่จะปฏิบัติตามให้ผ่านไปได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในระดับพอดี ไม่ละเลยและก็ไม่เข้มงวดจนเกินไป

                ในการแสวงหาค่าให้กับตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคิดว่าต้องทำให้คนอื่นยอมรับ ให้เขาเห็นความสำคัญเสียก่อนจึงจะเป็นคนมีค่า ก็ไม่ถูกต้องนัก อันที่จริงต้องทำตัวเองนั่นแหละให้มีค่าเสียก่อนจึงจะได้รับการยอมรับ  แต่หากทำไม่ได้จริง ถึงได้รับการยอมรับก็จะเป็นเพียงแค่ค่านิยมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำว่า “ค่าของคน” เลย

............................................