มีข้าราชการจำนวนไม่น้อย
ขณะที่ยังรับราชการอยู่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง
แต่พอปลดเกษียณได้ไม่นานกลับหมดเรี่ยวแรง ป่วยกระเสาะกระแสะ
บางรายถึงกับเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น ทั้งๆ
ที่น่าจะมีชีวิตอยู่ทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัว สังคมและประเทศชาติได้อีกหลายปี
ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่มีอายุยืนยาวอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
น่าคิดว่าอะไรเป็นกลไกสำคัญในเรื่องนี้ มีผู้รู้กล่าวว่า
ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกษียณแล้ว มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา รวมถึงความรู้สึกเหงาหงอยว้าเหว่
คิดไปว่าหมดความหมายแล้ว มีแต่ความว่างเปล่าไร้ค่า
ส่วนผู้ที่มีชีวิตอยู่ยาวนานกว่า มักจะเป็นผู้ที่มีความคิดที่ตรงกันข้าม
ตามหลักการแพทย์กล่าวว่า หากประสงค์จะมีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว
จะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
ที่อยู่อาศัยต้องสะอาดมีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเทได้สะดวก
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมตามเพศและวัย ขับถ่ายให้เป็นเวลา
และควบคุมอารมณ์ให้สงบเยือกเย็นอยู่เสมอ
ส่วนในทางพระพุทธศาสนานอกจากจะสนับสนุนความเชื่อในทางโลกแล้ว
ยังสอนเกี่ยวกับเคล็ดลับที่ทำให้อายุยืนยาวไปอีก โดยให้ยึดหลักอิทธิบาท ๔
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์เถระว่า ถ้าพระองค์ปรารถนาจะอยู่ตลอดกัปก็อยู่ได้โดยการเจริญอิทธิบาท
(กัป หมายถึงกำหนดอายุของมนุษย์ในสมัยพุทธกาล เท่ากับ ๑๒๐ ปี ) การเจริญอิทธิบาท ๔
ได้แก่
ฉันทะ-ความพอใจหรือรักที่จะอยู่ต่อไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ตลอดจนมีงานหรือกิจกรรมที่ดีงาม
ที่ใจใฝ่รักต้องการจะทำไว้สักอย่างหนึ่ง เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมการกุศล
การเจริญสมาธิภาวนา
วิริยะ-ความพากเพียรพยายามในการทำงานนั้นอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
กล้าสู้ไม่ท้อแท้หรือกลัวความลำบาก
จิตตะ-ให้มุ่งหมายไม่วอกแวก
หรือกังวลใดๆ มีความตั้งใจจริงที่จะประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างมีความสุข
วิมังสา-ความเข้าใจในการดำเนินชีวิต
มีจิตใช้ความคิดพิจารณาตรวจสอบ ทดลอง ที่สำคัญให้สนุกกับงาน หรือสิ่งที่เรารัก
มีความเพลิดเพลินเบิกบานร่างเริงแจ่มใส โดยไม่เปิดช่องให้แก่ความคิดวิตกกังวลใดๆ ที่เกิดขึ้นในใจ
ถ้าไม่มีวิบากกรรมหนักในอดีต
หรือในปัจจุบันมาตัดรอน ผู้เจริญอิทธิบาท ๔ อย่างสมบูรณ์ก็จะมีอายุยืนยาวแน่นอน
.....................................