วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

มนุษย์


                คำว่า “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายว่า สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง คน
                นักปราชญ์ทางศาสนาได้เสนอทัศนะ ความเหมือนและความต่างกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ไว้ว่า การกินอาหาร การพักผ่อนหลับนอน การหลบหลีกภัยอันตราย การประกอบกามกิจระหว่างเพศ ๔ อย่างนี้ มีเหมือนกันทั้งคนสัตว์ ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนกับสัตว์แตกต่างกัน ถ้าปราศจากธรรมะเสียแล้ว คนกับสัตว์ก็เสมอกัน มนุษย์จะเป็นผู้มีเหตุผล หรือจะมีจิตใจสูงได้ ควรจะมีธรรมะอย่างน้อย ๒ ประการคือ
                ๑. สติ แปลกันว่าความรู้สึกตัว คือกิริยาที่จิตจดจ่ออยู่กับการกระทำ หรือพฤตกรรมทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ ทั้งในส่วนที่ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งส่วนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่จะเป็นไปในอนาคต โดยรู้เท่าทันพฤติกรรมนั้น ตามที่เป็นจริง สติทำให้จิตแนบอยู่กับพฤติกรรมตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้อารมณ์ร้ายเข้ามาคอบงำ
                ๒.ปัญญา แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
                                ประเภทที่หนึ่ง เกิดจากการศึกษา การอ่าน การฟัง การดูตัวอย่างเรียกว่า สุตมยปัญญา
                                ประเภทที่สอง เกิดจากการใช้เหตุผล การคำนึงคำนวณ การนำเหตุนำผลมาปรับให้เข้ากัน เรียกว่า จินตามยปัญญา
                                ประเภทที่สาม เกิดจากเจนจัดต่อเหตุการณ์ที่พบผ่าน หรือที่เรียกว่าประสบการณ์ โดยเฉพาะทางศีลธรรม ทำให้เกิดปัญญาชนิดนี้ เช่น ความทุกข์เกิดอย่างไร เป็นต้น เราไม่ต้องอ่านจากใคร เราอ่าน ความรู้สึกได้จากใจ พิจารณาลงไปในความจริงที่กำลังเป็นอยู่ หรือที่ผ่านมาแล้ว เป็นปัญญาอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากอบรมจิตใจ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
                เมื่อประกอบด้วยธรรมะ คือ สติและปัญญาดังกล่าว คนก็จะแตกต่างจากสัตว์ คือมีจิตใจที่พัฒนาสูงกว่าสัตว์ สมควรเรียกได้ว่ามนุษย์ ซึ่งแปลว่า ผู้มีใจสูง เพื่อความไม่ประมาท เราท่านจึงควรสำรวจตัวเองไว้เสมอๆ ว่า ยังมีสติและปัญญาบริบูรณ์ดียู่ หรือเปล่า ทั้งนี้ เพื่อรักษาสถานภาพความเป็นมนุษย์ไว้ ให้ได้ตลอดไป

.......................................