วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความเพียร


                คำว่า “ความเพียร” เป็นคำที่คุ้นหูเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหวังที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ ได้ใช้ความเพียรที่บริสุทธิ์อย่างเต็มที่ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง พระมหาชนกขึ้นเผยแพร่ เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งความพากเพียร ความเพียรมีลักษณะ ๔ ประการคือ
                ๑. เพียรระวัง คือระวังมิให้ความชั่วน้อยใหญ่เกิดขึ้นมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา
                ๒. เพียรละ คือเพียรลด-ละ-เลิก สิ่งที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ อันเป็นอุปสรรคแห่งความก้าวหน้าของเรา
                ๓. เพียรเริ่ม คือเพียรบำเพ็ญความดี ความรู้ ความสามารถที่ยังไม่มี ให้เกิดมีขึ้นจงได้
                ๔. เพียรรักษ์ คือเพียรรักษาความดี ความรู้ ความสามารถที่เรามีอยู่ในตัว ให้เจริญพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป
                ความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้าใครมีอยู่ครบถ้วนในตัวอย่างบริบูรณ์ดีแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จความก้าวหน้า และความสุขแน่นอน ดังคำกลอนที่ว่า
                                                สรรพกิจย่อมเสร็จด้วย        ความเพียร
                                ไป่เกลื่อนกล่นอาเกียรณ์                    ทอดไว้
                                กิจหลายไป่เสถียร                                ด้วยสัก  นึกฤๅ
                                นึกบ่ทำบ่ได้                                          เสร็จสิ้นสมประสงค์
                ดังนั้น ถ้าเราอยากได้อะไร อยากให้อะไรสำเร็จ ก็ต้องพากเพียรทำเอง มิใช่นึกหวัง นั่งหวัง หรือนอนคอยโชควาสนา ดังนิทางเล่าว่า มีเพื่อนกันสองคน ได้รับคำทำนายจากหมอดูว่า คนหนึ่งจะสบายได้นั่งกินนอนกิน อีกคนหนึ่งจะลำบาก เหน็ดเหนื่อยไม่ค่อยได้หยุด คนที่หมอดูทำนายว่าจะสบาย ก็เกิดความประมาท คิดว่าตนเองเป็นคนมีวาสนา มีโชคดีอยู่แล้ว จึงเกียจคร้าน นั่งรอ นอนรอความร่ำรวย และในที่สุดก็ได้นั่งกินนอนกินจริงๆ เพราะต้องขอทานเขากินข้างถนน ส่วนอีกคนหนึ่งกลัวว่าชีวิตตนจะลำบากตามที่หมอดูทัก ก็พยายามตั้งใจทำการงาน หนักเอาเบาสู้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่นานนักก็ร่ำรวยขึ้น แม้จะลำบากจริง แต่ผลของความลำบากก็ทำให้มีความสุข
                จากเรื่องนี้ ลองนึกถามตัวเองดูบ้างว่า จะเลือกเอาแบบไหน จะเอาแบบสบาย นั่งกินนอนกิน หรือว่าจะเลือกเอาความลำบาก เหน็ดเหนื่อยไม่ได้หยุด

.....................................