วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ยอมรับผิด


                เราคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า ผู้ต้องหาในคดีต่างๆ เมื่อถูกจับ มักยืนยันหนักแน่นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะขอให้ปากคำในชั้นศาลเท่านั้น แต่เมื่อเรื่องไปถึงชั้นศาล ฝ่ายโจทย์ก็มีพยานหลักฐานมัดตัวแน่นหนาจนดิ้นไม่หลุด แล้วจึงยอมรับสารภาพ
                เหตุที่บุคคลไม่กล้ารับผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปเช่นนี้ อาจเป็นเพราะความอาย กลัวเสียหน้า เสียชื่อเสียง กลัวถูกตำหนิ กลัวถูกทำร้าย หรือกลัวถูกลงโทษ ความกลัวเหล่านี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปที่ต้องการความดี ไม่ต้องการความเสื่อมเสียให้มีในชีวิตตน
                ดังนั้น หากเราได้รับทราบว่า มีใครยอมรับผิดในสิ่งที่เขาทำ เราก็จะรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของเขาที่ไม่มีความกลัวเหมือนที่คนทั่วไปกลัวกัน ตัวอย่างเช่น พันท้ายนรสิงห์  ที่เป็นผู้กล้าหาญยอมรับผิดทั้งๆ ที่รู้ว่าจะต้องถูกประหารชีวิตก็ไม่เสียดายแม้ชีวิตของตน
                อันที่จริงผู้ที่รับผิดเพราะมิใช่จำนนด้วยหลักฐานนั้น หากมองในแง่ดีเขาคือผู้สอนธรรมปฏิบัติแก่เราในเรื่อง ความกล้าหาญ การเคารพความจริง การไม่มีทิฐิมานะถือตนว่าเป็นคนวิเศษทำอะไรไม่มีผิดพลาด เพราะการยอมรับผิดเป็นวิสัยของบัณฑิต มิใช่วิสัยของคนพาล คนพาลนั้นมากด้วยทิฐิมานะคือ ความถือตัวเข้มข้น ทำผิด พูดผิดแล้วไม่ยอมรับผิด
                มีคำกล่าวที่เป็นจริงและยอมรับกันว่า คนที่ทำอะไรไม่ผิดเลยก็คือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ส่วนคนที่ยังต้องทำกิจธุระหน้าที่ตางๆ อยู่ ก็ต้องจะมีผิดบ้างถูกบ้างเป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ตัวว่าทำผิดจึงควรแสดงความกล้าหาญด้วยการยอมรับผิด อย่างน้อยด้วยการขอโทษ แล้วสำรวมระวังไม่ทำผิดอีกต่อไป ในทางกฎหมายมีการลดหย่อนผ่อนโทษ แก่ผู้ต้องหาที่รับสารภาพผิดจากหนักให้เป็นเบา แม้คนในสังคมก็ยังให้อภัยแก่ผู้ที่รับผิดและสำนึกได้ในภายหลัง
                ขอให้เราลองสำรวจตัวเองว่า ได้เคยทำผิดอะไรมาบ้าง และได้แสดงความกล้าหาญด้วยการยอมรับผิดบ้างแล้วหรือยัง

.....................................