วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

ระดับของความดี


                 คำว่า “ความดี” มีความหมายในหลายๆ อย่าง เช่น ดีคือไม่เสีย ดีคือมีประโยชน์ ดีคือมีความสุข ฯลฯ ความดีนั้นมีหลายระดับ ทั้งยังกว้างขวางและลึกซึ้ง ในชาดก ได้กล่าวถึงความดีลักษณะหนึ่งของผู้ครองเรือนไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเป็นสี่ระดับคือ

                ๑.ขยั่นหมั่นเพียร จัดเป็นความดีขั้นพื้นฐาน เพราะจะทำให้ชีวิตอยู่รอด ทำให้ร่างกาย สมองและความคิดมีพัฒนาการ เป็นคนที่มีคุณภาพในระดับแรกสุด เป็นต้นทุนทำให้มีการต่อสู้และสร้างสรรค์

                ๒.รู้จักแบ่งปัน เป็นความดีที่สูงขึ้นไปอีก เพราะรู้จักมองให้พ้นไปจากผลประโยชน์ของตัวเอง มีการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้อื่นยินดีแบ่งปันแม้ผลประโยชน์อันได้จากความหมั่นเพียรซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม แม้การได้ครอบครองจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ แต่บางครั้งการเสียสละกลับเป็นความยิ่งใหญ่กว่า

                ๓.เมื่อได้ลาภยศก็ไม่หลงระเริง คือไม่ตกเป็นทาสวัตถุ ไม่หลงมัวเมาในลาภยศชื่อเสียงถือเอาสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะทำความดีได้อย่างสะดวกและกว้างขวางขึ้น ความพรั่งพร้อมที่มีอยู่ก็เป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาตัวเองให้มีค่ายิ่งขึ้น

                ๔.เมื่อถึงคราววิบัติก็ไม่ท้อแท้ ด้วยมองเห็นว่าทุกคนล้วนเกิดมาตัวเปล่า เมื่อเริ่มจากศูนย์ หากวันหนึ่งต้องกลับไปเหลือศูนย์อีก ก็เป็นความเสมอตัวเท่านั้น ไม่ใช่ขาดทุน แล้วประคองชีวิตเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง เยือกเย็น และสง่างาม เป็นบุคคลชนิดยิ้มได้เมื่อภัยมา

                ความดีทั้งสี่ระดับนี้ เป็นการแบ่งจากต่ำไปหาสูง จากง่ายไปหายาก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มนุษย์ยกระดับการทำความดีให้สูงขึ้น ก้าวหน้าขึ้น และเป็นเครื่องทดสอบตัวเองว่า ขณะนี้เรามีความดีอยู่ในระดับใด

............................................

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พลังสามัคคี

                 ในคนคนหนึ่งย่อมมีพลังเฉพาะตัวเพียงระดับหนึ่ง สามารถแบกหามได้เท่านั้น มองเห็นได้เท่านั้นคิดอ่านได้เท่านี้ คือเท่าที่ขอบเขตของตนเองจะสามารถทำได้ แต่ถ้าคนสองคนสามัคคีกันร่วมแรงร่วมใจกันพลังทั้งหมดนั้นก็จะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว พลังสามัคคีนี้ ดี ง่าย ไม่ต้องซื้อหา และไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าเป็นประโยชน์แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้น ในทางพระพุทธศาสนาได้มีแนวปฏิบัติตามหลักธรรมสี่ประการ ดังนี้

                ๑.เมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งทางการกระทำ ทางคำพูดและทางความคิดเพราะการอยู่ร่วมกับคนอื่น หรือกับคนหมู่มาก ย่อมมีข้อคิดเห็นและการกระทำที่ขัดแย้งกันได้ การมีเมตตาทำให้มีต้นทุนทางอารมณ์ที่ดี พร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างคนที่รักใคร่ เห็นอกเห็นใจกันและกัน

                ๒.สาธารณโภคี จัดสรรผลประโยชน์อย่างเสมอหน้าและเป็นธรรม ไม่มักมากเห็นแก่ตัว หรือพวกพ้องของตน เพราะผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งทุกยุคทุกสมัย

                ๓.สีลสามัญญตา มีความประพฤติเสมอกัน ถึงจะมีการกระทำต่างกันบ้าง แต่ต้องลงกันได้ภายในกรอบกติกา คือ ไม่ละเมิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนของส่วนรวมไม่ว่าจะทำเองหรือสนับสนุนผู้อื่น

                ๔.ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นเสมอกัน หากยังคิดให้ตรงกันไม่ได้ อย่างต่ำที่สุดก็ต้องเห็นให้เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า ความคิดที่ไม่ตรงกันนั้นแหละ เป็นสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องรับฟังและให้เกียรติกัน ความเห็นที่เสมอกันอย่างนี้ จะเป็นเครื่องยับยั้งไม่ให้ความคิดที่ไม่ตรงกันกลายเป็นอาวุธทิ่มแทงจนเกิดการแตกหักได้

                ถ้าคนสองคนสามัคคีกัน พลังที่มีก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พอจะพูดได้ว่าเหมือนหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองแต่ถ้าคนสองคนแตกสามัคคี เกลียดชังมุ่งร้ายกัน จะไม่ใช่สองหารสองแล้วกลับมาได้หนึ่งเหมือนเดิม เพราะจะเกิดการเบียดเบียนทำลายล้างกันเอง จนแม้แต่ศักยภาพและตัวตนที่มีอยู่เดิมก็จะย่อยยับลงไปด้วย ดังนั้นเมื่อเห็นประโยชน์ของความสามัคคีนั้นแล้ว ก็พึงดำรงตนไว้ในหลักธรรมทั้งสี่ข้างต้น

............................................

ผลบุญ


                 การทำบุญเป็นกิจกรรมที่มีอยู่ในทุกศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามีการทำบุญหลายวิธี เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น เป็นวิธีชักนำให้คนเข้าหาความดี การทำบุญนั้นไม่ว่าจะมีกรรมวิธีแตกต่างกันอย่างไร ก็ทำให้เกิดความดีที่เป็นผลรวมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือปิดกั้นอกุศล ไม่ให้ความชั่วได้ช่อง

                โดยธรรมชาติ ดีกับชั่วย่อมเป็นปฏิปักษ์กันเองอยู่ในตัว ขณะที่กำลังพูดไพเราะ จะไม่สามารถพูดคำหยาบได้ ขณะที่เกิดความรักอย่างท่วมท้นจะไม่สามารถโกรธได้ เมื่อเปิดช่องให้ความดีมากเท่าใด โอกาสของความชั่วก็น้อยลงเท่านั้น การทำบุญจึงไม่ใช่เป็นเพียงประเพณีหรือข้อบัญญัติที่เลื่อนลอย แต่มีผลดีต่อชีวิตจริงๆ อย่าน้อย ๒ ระยะคือ

                ระยะแรก ทำให้เกิดความสุขใจ บางคนพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง ความมีหน้าทีตาในสังคม แต่หาความสุขใจไม่ค่อยได้ ที่เป็นดังนั้นเพราะยังเข้าไม่ถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อะนะวัชชะสุข คือ สุขเกิดจากการไม่กระทำสิ่งที่มีโทษ ได้แก่ ความปลอดโปร่งใจ วางใจได้สนิทว่าไม่มีความผิดที่ต้องเดือดร้อนสะดุ้งระแวง มีความสงบเย็น ไม่ถูกทำร้ายแม้จากความรู้สึกของตัวเอง

                ระยะที่สอง ทำให้เกิดความมั่นใจ โดยเฉพาะความมั่นใจในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะคนที่ใกล้ตายจะต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติครอบครัว และญาติมิตรที่เคยเป็นที่พึ่งไว้เบื้องหลัง ครั้นมองไปข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปไหน เผชิญกับอะไร ตกอยู่ในสภาพอ้างว้างหวาดหวั่น เพราะไม่เห็นว่าสิ่งใดจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพิงได้ จึงมีแต่บุญหรือความดีเท่านั้น ที่จิตใจจะนึกหน่วงเอามาเป็นอารมณ์ ทำให้เกิดความภูมิใจและมีกำลังใจได้บุญที่ทำไว้จึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายจริงๆ

                การทำบุญไม่ว่าในศาสนาไหน ย่อมไม่ได้เป็นเพียงประเพณีเท่านั้น ทุกครั้งที่ทำ หมายถึงได้ปิดกั้นความชั่ว เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขใจและมั่นใจ ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นทันตาเห็น ไม่ใช่เรื่องควรรังเกียจหรือน่าเบื่อหน่ายแต่อย่างใด

............................................

เรือเร่

                 ในสมัยที่การค้าขายทางเรือเจริญรุ่งเรือง พ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายทางเรือจะนำสินค้าของตนบรรทุกเรือขึ้นล่องไปตามแม่น้ำลำคลองเพื่อค้าขายยังสถานที่ต่างๆ เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน จึงกลับบ้านสักครั้งหนึ่ง บางครั้งก็ไปพร้อมกันหลายๆ ลำเป็นหมู่คณะ พอพลบค่ำก็จอดพักแรมตามสถานที่นั้นๆ จัดแจงหาก้อนหินหรือก้อนดินมาทำเป็นก้อเส้า จุดไฟหุงต้มอาหาร กินอยู่หลับนอนและขับถ่ายกันบริเวณนั้น ครั้งรุ่งเช้าก็ล่องเรือต่อไปทิ้งให้สถานที่ที่พักแรมสกปรกรุงรังไปด้วยก้อนเส้า เศษไม้ เศษฟืน เศษอาหาร รวมทั้งสิ่งปฏิกูลอื่นๆ เจ้าของสถานที่ หรือผู้ที่ผ่านมาพบเห็นก็รังเกียจระอา จนกลายเป็นที่เข้าใจทั่วกันว่าพวกเรือเร่ก็เป็นอย่างนี้ ทั้งที่พ่อค้าเรือเร่ที่ดีๆ ก็คงจะมีอยู่ แต่ก็โดนโทษเหมารวมกันไป

                โลกก็เป็นเหมือนที่พักแรมชั่วคราวซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบการของชีวิต คนที่มาสู่โลกนี้บางคนก็ได้กำไร เพราะใช้โลกนี้เป็นเวทีสร้างความดีแก่ตน มีน้ำใจสงเคราะห์ผู้อื่น ทำโลกให้น่าอยู่และงดงามสำหรับคนรุ่นหลัง บางคนก็เสมอตัวแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่บางคนก็สร้างความเดือดร้อนเสียหายทิ้งไว้ให้เป็นส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย

                ไม่มีใครมาแล้วไม่จากไป เกณฑ์อย่างต่ำที่สุดจึงควรเป็นว่า เมื่อมาแล้วถ้าหากสร้างคุณประโยชน์อะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ทิ้งความยุ่งยากและน่ารังเกียจไว้ให้คนอยู่หลัง จึงเสมอตัว คือถึงไม่สามารถจากไปอย่างสง่างามท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญได้ แต่ก็ไม่ควรจากไปอย่างมีมลทินติดตัวท่ามกลางเสียงประณามกล่นด่าเหมือนพวกเรือเร่

............................................

กอไผ่


                 ไผ่เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่ง นักพฤกษศาสตร์จัดไว้ในจำพวกพืชตระกูลหญ้า มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น หน่ออ่อนใช้ทำอาหาร ลำต้นใช้สร้างที่พักอาศัย ใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษ เป็นต้น ไผ่มีหลายชนิด แต่เมื่อว่าโดยรวมมีลักษณะเด่นอยู่สี่ประการคือ

                ๑.อยู่รวมกลุ่มกัน ไผ่จะแตกลำต้นออกหลายๆ ต้น จนกลายเป็นกอใหญ่ที่หนาแน่นมั่นคง สามารถต้านแรงลมหรือพายุฝนได้ ไม่เคยมีไผ่ต้นใดแตกแยกไปอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ลักษณะดังกล่าวให้ข้อคิดในเรื่องความสามัคคี ความกลมเกลียวเหนี่ยวแน่น ว่าเป็นพลังให้ต่อสู้กับอุปสรรคอันตรายได้

                ๒.สร้างเครื่องป้องกันตัวเอง ไผ่แต่ละกอจะมีเรียวไผ่ที่หนาแน่นและหนามอันแหลมคม ซึ่งเกิดมาจากไผ่แต่ละลำนั่นเอง เป็นปราการอันเข้มแข็ง ลักษณะดังกล่าวให้ข้อคิดว่า แต่ละคนจะต้องรู้จักเสียสละความรู้ ความสามารถและผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อความสุข ความมั่นคงของส่วนรวม

                ๓.อดออมอาหารไว้ยามขาดแคลน ในฤดูแล้ง ไผ่จะสลัดใบทิ้งหมด เพื่อจะไม่ต้องนำน้ำหรืออาหารไปเลี้ยงใบ และใบที่หล่นลงไปกลบโคนต้นไว้นั้น จะทำให้ต้นไผ่ชุ่มชื้น เป็นการอดออมและเตรียมพร้อมในยามขาดแคลน ลักษณะดังกล่าวให้ข้อคิดว่าการรู้จักกินรู้จักใช้จะทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนในคราวจำเป็น

                ๔.ไผ่พินาศด้วยพวกเดียวกัน เพราะไผ่นั่นเองที่ถูกตัดไปทำเป็นด้ามพร้า เพื่อมาทำลายไผ่ด้วยกัน เป็นข้อคิดที่ว่า ประเทศชาติหรือสังคมจะเสียหายหรือพินาศล่มจมลงไปก็เพราะคนที่อยู่ในประเทศชาติหรือสังคมนั้นๆ นั่นเอง

                ความสามัคคีปรองดอง การรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้จักประหยัดอดออม และไม่เป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีทั้งสี่ประการนี้ เป็นเงื่อนไขของการอยู่รอดในทุกยุคทุกสมัย ถึงจะไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือศาสตร์ใดๆ เลย เพียงแต่มองแค่กอไผ่ แล้วพิจารณาให้ดีก็จะเป็นข้อคิด ข้อเตือนใจได้

............................................

มนต์รัก

             ธรรมชาติของทุกคนย่อมต้องการเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ต้องการเป็นที่รังเกียจของใครๆ วิธีทำให้คนอื่นรักมีด้วยกันหลากหลายตามความเชื่อที่ต่างกันออกไป ไม่เว้นแม้แต่การหันไปพึ่งคุณไสยหรือเวทมนต์คาถา เพื่อช่วยให้ดลใจให้คนอื่นรัก ทางพระพุทธศาสนาได้สอนหลักปฏิบัติสำหรับยึดเหนี่ยวใจคนให้เกิดความรักที่เรียกว่า สังคหวัตถุหรือมนต์รักไว้สี่ประการคือ

                ๑.ทาน เป็นผู้ให้ ยินดีเสียสละแบ่งปัน ทั้งเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น และเพื่อแสดงน้ำใจ

                ๒.ปิยวาจา จะพูดอะไรก็พูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะน่าฟัง แม้จะต้องตำหนิกล่าวโทษ ก็แสดงเหตุผลด้วยถ้อยคำสุภาพ ไม่หยาบกระด้างหรือใช้อารมณ์

                ๓.อัตถจริยา ทำตังให้เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกำลังกาย กำลังความคิด แม้เขาไม่ออกปากก็มีน้ำใจ ไม่ดูดาย

                ๔.สมานัตตตา วางตัวเหมาะสม คือวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย และเหมาะสมกับฐานะที่เป็น เช่นในฐานะที่เป็นลูก เป็นพ่อแม่ เป็นสามีภรรยา เป็นเพื่อน ฯลฯ

                ความรักเป็นเรื่องของจิตใจ ต้องอาศัยความดีเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดความซาบซึ้งประทับใจต่อกัน มนต์รักจึงไม่ใช่มนต์ดำที่ปกปิด แต่เป็นมนต์ขาวที่เปิดเผย ไม่ใช่มนต์เสกแต่เป็นมนต์สร้าง

                                อันวิชาอาคมผสมเสน่ห์     สำแดงเล่ห์หลอกคนว่ามนต์ขลัง

                เสียเวลาประวิงไม่จริงจัง                   เพราะมนต์ขลังมีอยู่ทั่วในตัวเรา

                คือกิริยาวาจาอัชฌาสัย                        แม้ทำไว้ให้ดีไม่มีเฉา

                ประชาชนยลพักตร์ย่อมรักเรา          ไม่ต้องเป่าเสกสั่งก็ขลังเอง.

............................................

ค่าของคน


                 เรามักได้ยินการพูดถึงค่าของคนอยู่เสมอ ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็นคนดีมีค่ากันทั้งนั้น ค่าของคนนั้นโดยมากก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าจะนำสิ่งใดมากำหนดว่าสมควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้างว่าจึงจะเรียกว่าค่าของคน ทั้งนี้ก็ขึ้นกับมุมมองในแง่ต่างๆ ในเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ แต่มีพื้นฐานตามทางธรรมได้บอกไว้อย่างน้อยสี่ข้อสำหรับพื้นฐานของค่าของคน ที่สมควรต้องมีและรักษาไว้ให้ได้ก่อน ดังนี้

                ๑.มองไกล ได้แก่มองอย่างทั่วถึงตลอดสาย เช่น เมื่อเห็นคนที่เจริญรุ่งเรือง หรือเห็นคนที่ตกต่ำหายนะก็ไม่มองแค่ความรุ่งเรืองหรือความตกต่ำที่ปรากฏ แต่มองต่อไปถึงการทำงาน วิธีคิด การดำรงตนที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น คือมองเข้าไปจนถึงเหตุปัจจัยลักษณะเด่นของคนๆ นั้น โดยต้องมีวิธีคิด ที่เรียกว่าคิดเป็น

                ๒.ใฝ่ดี คือดีด้วยความสมัครใจ ดีเพราะศรัทธาในความดี ดำเนินชีวิตด้วยความสุจริต ขยันหมั่นเพียร แม้จะมีสิ่งเย้า ก็ไม่หวั่นไหวตั้งมั่นในความดีนั้นๆ อย่างแน่วแน่

                ๓.ทำหน้าที่ถูกต้อง ปฏิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ ทั้งหน้าที่การงานและหน้าที่ที่มีต่อบุคคลรอบข้าง  หน้าที่พ่อหรือแม่ หน้าที่สามีหรือภรรยา หน้าที่ของลูก หน้าที่ต่อญาติมิตรและเพื่อนพร้อง หน้าที่ต่อเพื่อนร่วมงานในทุกระดับ ต้องรู้ถึงหน้าที่ที่ถูกต้องนี้จนรู้สึกว่าไม่มีสิ่งไหนที่ควรต้องทำแต่ต้องทำให้เป็นหน้าที่ แม้บางเรื่องจะยังทำไม่สำเร็จก็ต้องไม่ละทิ้ง

                ๔.อยู่ในครรลองแห่งแบบแผน คือมีระเบียบวินัยเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่ให้ชีวิตผ่านไปวันๆ ตามอำเภอใจ หรือกำหนดกฎเกณฑ์จนอยากที่จะปฏิบัติตามให้ผ่านไปได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในระดับพอดี ไม่ละเลยและก็ไม่เข้มงวดจนเกินไป

                ในการแสวงหาค่าให้กับตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคิดว่าต้องทำให้คนอื่นยอมรับ ให้เขาเห็นความสำคัญเสียก่อนจึงจะเป็นคนมีค่า ก็ไม่ถูกต้องนัก อันที่จริงต้องทำตัวเองนั่นแหละให้มีค่าเสียก่อนจึงจะได้รับการยอมรับ  แต่หากทำไม่ได้จริง ถึงได้รับการยอมรับก็จะเป็นเพียงแค่ค่านิยมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคำว่า “ค่าของคน” เลย

............................................

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เรื่องธรรมดา


                เรื่องธรรมดา หมายถึง เรื่องที่ไม่แปลกประหลาด ไม่น่าอัศจรรย์ คนทั่วไปมักให้ความสำคัญน้อยกว่าเรื่องผิดธรรมดาที่เป็นปรากฏการณ์พิเศษ บางครั้งอาจถึงขั้นมองข้าม ไม่อยากสนใจให้เสียเวลา แต่ในชีวิตของคนเรานี้มีเรื่องธรรมดาอยู่ห้าเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด

                ๑.ชราธัมมตา ต้องแก่เป็นธรรมดา 

                ๒.พยาธิธัมมตา ต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา

                ๓.มรณธัมมตา ต้องตายเป็นธรรมดา

                ๔.ปิจวินาภาวตา ต้องพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา

                ๕.กัมมัสสกตา ต้องรับผลกรรมเป็นธรรมดา

                ทั้งห้าหัวข้อนี้ ในทางธรรมสอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเอาใจใส่ ต้องพิจารณาเนืองๆ ให้เข้าใจและยอมรับอย่างถ่องแท้ เพราะจะทำให้เข้าใจชีวิตได้ถูกต้องและมีความพร้อมทั้งสองระดับ คือ พร้อมที่จะรับอันหมายถึงเมื่อความแก่ ความเจ็บ มาถึงก็จะมีสติ ไม่ตื่นตระหนก หรือเป็นทุกข์เกินกว่าเหตุ เป็นต้น และพร้อมที่จะเริ่ม อันหมายถึงเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่หนีไม่พ้น จะได้เริ่มตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทแล้วเร่งสร้างคุณค่าและสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง

                ลองคิดล่วงหน้าดูก่อนก็ได้ว่า ถ้าต้องประสบกับปรากฏการณ์ห้าข้อนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเดือดร้อนวุ่นวายจนไม่สงบทุเลา หรือท้อแท้ซบเซาจนสิ้นสุข ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจ ยังปฏิบัติผิด แม้ต่อเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องธรรมดาๆ

............................................