วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

มิจฉาทิฐิ


                 คำว่า ทิฐิ หมายถึง ความเห็น ความเชื่อถือ และทัศนะในการมองโลกและชีวิต มิอิทธิพลครอบงำและมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิต และสังคมมนุษย์เป็นอย่างมาก สามารถนำชีวิต สังคม หรือมนุษยชาติทั้งหมด ไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรือง หลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศหายนะมากกมายเท่าไรก็ได้ เพราะเมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิด พูด สั่งสอน ชักชวนกัน และทำการต่างๆ ไปตามที่เชื่อ ที่เห็น ที่นิยมอย่างนั้น
                ในทางพระพุทธศาสนาจึงจัด ทิฐิ เป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ เพราะเป็นตัวบันดาล และอยู่เบื้องหลัง กายกรรม และวจีกรรมอีกชั้นหนึ่ง และแบ่งทิฐิออกเป็น ๒ ประเภท คือ มิจฉาทิฐิ หมายถึง ความเห็นที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ในเบื้องต้นได้แก่ ความเห็นที่ผิดไปจากคลองธรรมว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ๑ การเซ่นสรวงไม่มีผล ๑ การบูชาไม่มีผล ๑ ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี ๑ โลกนี้ไม่มี ๑ โลกหน้าไม่มี ๑ มารดาไม่มีบุญคุณ ๑ บิดาไม่มีบุญคุณ ๑ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปาติกะไม่มี ๑ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่มี ๑ ในเบื้องปลาย ได้แก่ ความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามสภาวะความเป็นจริง หรือตามเหตุปัจจัย ทิฐิอีกประเภทหนึ่งคือ สัมมาทิฐิ หมายถึงความเห็นที่ถูกต้อง ได้แก่ความเห็นที่ตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานี้
                มิจฉาทิฐิ ถือว่าเป็นต้นตอที่สำคัญของความผิดความชั่วทั้งมวล ดังมีพระพุทธดำรัสรับรองไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วก็พอกพูนมากขึ้นเหมือนอย่างมิจฉาทิฐินี้เลย”
                ดังนั้น จึงควรปรับความเห็นของตนให้เป็นสัมมาทิฐิ อันเป็นเสมือนไฟส่องให้เห็นทางและมั่นใจในทางอันถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้เริ่มย่างก้าวขึ้นสู่ทางเดินอันประเสริฐที่เรียกว่า อริยมรรค แล้วสิ่งดีงามต่างๆ จะเกิดขึ้นในชีวิตของท่านอย่างแน่นอน

............................................