วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คำกล่าวบูชา

 คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย
                 คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย มีหลากหลายรูปแบบ แต่ละสำนักจะใช้เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง แต่มีจุดหมายเดียวกันคือ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก
                มีผู้สงสัยว่า คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัยที่อนุศาสนาจารย์นำกล่าวในกรณีที่ไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานและตั้งโต๊ะหมู่บูชา รู้สึกจะขัดต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะตอนคำแปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมบูชา.... ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน ก็ไม่มีสักอย่าง
                ได้รับคำตอบจากท่านอนุศาสนาจารย์บางท่านว่า เวลาที่เรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย โดยไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ เราก็ใช้ใจน้อมรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในทำนองเดียวกัน เมื่อเครื่องสักการะคือ ดอกไม้ ธูป เทียน ไม่มี เราก็ใช้ กาย วาจา และใจ เป็นเครื่องสักการะแทน ดังนี้
                ๑.สักการบูชาทางกาย เราใช้นิ้วทั้ง ๑๐ ประนมมือแทนธูปเทียน และดอกไม้ ดังคำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่โบราณท่านกล่าวว่า อุกาสะ ข้าขอยกกรวันทา ประนมนิ้วหัตถ์ขึ้นเหนือเศียร ต่างรัตนะประทีปธูปเทียนแก้ว ๗ ประการ
                ๒.สักการบูชาทางวาจา ก็คือ การเปล่งวาจา กล่าวคำบูชาด้วยเสียงอันนุ่มนวล ไพเราะเสนาะโสต ฟังแล้ว เกิดปีติโสมนัส
๓.สัการบูชาทางใจ ก็คือ ขณะที่กำลังกล่าวคำบูชา ใจของเราก็น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ด้วยความเรารพ ใช้ปัญญาพิจารณาไปตามคำบูชาว่า พระรัตนตรัยมีคุณอย่างไร เราจะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้อย่างไร
                และได้สรุปไว้ว่า เครื่องสำหรับสักการบูชามี ๒ อย่าง คือ อามิสบุชา ได้แก่ การบูชาด้วยสิ่งของต่างๆ และ ปฏิบัติบูชา ได้แก่ สักการบูชาด้วยการปฏิบัติ คือเว้นการทำชั่ว ประพฤติดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

............................................