วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ความวางเฉย

ความวางเฉย
                อุเบกขา แปลว่า ความวางใจเป็นกลาง หมายถึง วางใจเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะรักหรือชัง เป็นธรรมะที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับกำกับความประพฤติเพื่อให้ชีวิตมีคุณค่าน่าเชื่อถือ อุเบกขามีความหมายคนละอย่างกับการวางเฉยที่หมายถึงการไม่รับรู้รับเห็น ไม่สนใจไยดีต่อเหตุการณ์ที่ประสบ
                อุเบกขานั้นเป็นการวางใจเป็นกลางหรือการวางเฉยด้วยเหตุผลทางปัญญา ใช้ได้ในหลายกรณี เช่น วางเฉยเพราะพิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลาย กระทำแล้วว่าควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุปัจจัยอันตนประกอบ รวมทั้งวางเฉยสงบใจดูในเมื่อไม่มีอะไรที่ต้องทำอีกแล้ว เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เป็นต้น อุเบกขาจึงมีความหมายตรงกันข้ามกับอคติ คือจิตใจที่ลำเอียง ไม่เที่ยงธรรม นั่นเอง
                ในชีวิตประจำวันของคนเรามีเหตุการณ์ที่จะต้องใช้อุเบกขาอยู่เสมอ เช่น ต้องวางใจให้เป็นกลาง ในการรับกรรมของสัตว์ทั้งหลาย เพราะทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ต้องวางใจเป็นกลางในกรณีพิจารณาความดีความชอบให้แก่บุคคลที่ทำงาน ไม่พิจารณาให้เพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง หรือเพราะกลัว เป็นการส่วนตัว แต่พิจารณาจากผลงานอย่างแท้จริง นอกจากนั้น อุเบกขาธรรมเมื่อตั้งมั่นในใจของบุคคลสดแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นเหตุผล มีความเที่ยงธรรม เหมาะที่จะรับผิดชอบงานสำคัญๆ สูงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย
                ฉะนั้น การวางใจให้เป็นกลาง มีดวงจิตที่เที่ยงตรงยุติธรรม จึงเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้นำในการสร้างขวัญและกำลังใจที่ถูกทางให้แก่น้อย ขณะเดียวกันก็เป็นคุณธรรมสำหรับผู้น้อยที่จะประคองตนให้อยู่ในคลองธรรมที่ถูกต้องไม่เสียขวัญและไม่เสียกำลังใจง่ายๆ ตรงกันข้ามกับการวางเฉยแบบไม่รับรู้รับเห็น ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องบั่นทอนขวัญและกำลังใจของกันและกันแล้ว ยังช่วยซ้ำให้สังคมทรุดโทรมไม่ก้าวหน้าอีกด้วย
                ควรเริ่มต้นตรวจสอบตัวเราได้แล้วว่า เข้าใจความหมายของอุเบกขากับความวางเฉยถูกต้องแล้วหรือยัง

............................................