วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

หลักชีวิต


                ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายคำว่า “หลัก” ไว้ว่า เสาที่ปักไว้ผูก ที่มั่น เครื่องอาศัย เครื่องยึดเหนี่ยวจับถือ ส่วนคำว่า “ชีวิต” แปลว่า ความเป็นอยู่ เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกันเป็น “หลักชีวิต” จึงแปลได้ว่า หลักสำหรับดำเนินชีวิต
                พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การใช้ชีวิตของคน ถ้าขาดหลักเสียแล้วก็เป็นเรื่องอันตราย การดำเนินชีวิตก็จะไร้ทิศทาง เหมือนกระบือที่หลุดจากหลักผูก ย่อมเที่ยวกินพืชสวนของผู้อื่นและทำให้เจ้าของถูกปรับสินไหมได้ฉันใดก็ฉันนั้น  และทรงได้ตรัสถึงหลักการดำเนินชีวิต ไว้สองหลักใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
                หลักที่หนึ่ง หลักโลก หมายความว่า ในการดำเนินชีวิตจำต้องเกี่ยวเนื่องอยู่กับโลก จำเป็นต้องจัดตัวเองให้เหมาะกับเรื่องของโลก เรื่องของความรู้สำหรับใช้เลี้ยงชีวิตให้เป็นอยู่ได้อย่างไม่ฝืดเคืองแร้นแค้นเกินไป แต่เรื่องของโลกเป็นเรื่องไม่คงที่ไม่แน่นอน แปรปรวนอยู่เสมอ ขึ้นๆ ลง เพราะขึ้นอยู่กับอารมณ์และสิ่งแวดล้อมไม่คงที่ จึงต้องระมัดระวังให้ดีและคอยปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ
                หลักที่สอง หลักธรรม หมายความว่า ธรรมเป็นสิ่งที่คงตัวอยู่เสมอ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา แก่คร่ำคร่าไม่เป็นมีความเย็นและทรงคุณค่าต่อชีวิตเสมอ เช่น ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์ ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเสียสละ เป็นต้น ซึ่งถ้าใครประพฤติก็ย่อมได้รับรสแห่งความเย็นและทำให้ชีวิตมีคุณค่า หลักธรรมนี้ เมื่อหลายพันปีมาแล้วทรงคุณค่าอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม นับเป็นหลักความดีที่ทุกคนต้องเติมให้กับชีวิต
                ดังนั้นหากทุกๆ คนดำเนินชีวิตให้ได้ครบทั้งสองหลัก คือต้องปรับปรุงตัวให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ซึ่งจะทำให้เป็นคนหูยาว ดวงตาสว่างไสวอยู่เสมอ ส่วนหลักธรรมก็ต้องยืนที่ไว้ อันจะทำให้ไม่เป็นคนตื่นโลกจนลืมธรรม ผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตตามหลักทั้งสองนี้ได้อย่าครบถ้วนจะเป็นผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้มีชีวิตอยู่โดยโลกไม่ช้ำและธรรมไม่เสีย”  ลองสำรวจดูตัวเองว่า มีหลักดำเนินชีวิตทั้งสองนี้ครบถ้วนหรือยัง

............................................