วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

บวชไม่ศึกษ์


                มีข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้ข้อคิดเชิงเปรียบเทียบไว้เกี่ยวกับคำว่า “บวชไม่ศึกษ์” คือบวชแล้วไม่ศึกษาเล่าเรียนหลักคำสอนและไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เมื่อเป็นเช่นนี้เขาย่อมไม่ได้ความรู้ในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจหลักคำสอน ไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ตลอดทั้งไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นเป้าหมาย สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คนที่บวชแล้วไม่ศึกเล่าเรียนและไม่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ท่านเรียกว่า โมฆบุรุษ แปลว่าคนว่างเปล่า คือไม่ได้รับอะไรเลย ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดๆ เช่นคนที่จะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เตรียมข้าวของใส่กระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ไปที่สถานีขนส่งแต่ไม่ยอมขึ้นรถ ได้แต่เดินวนเวียนไปมาอยู่ในบริเวณสถานี เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็ไม่มีวันจะไปถึงเชียงใหม่ได้อย่างแน่นอน

                เรื่องเปรียบเทียบเชิงคำสอนนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่า การตั้งเป้าหมายอะไรไว้จะไม่สำเร็จด้วยการคิดเพียงอย่างเดียวต้องลงมือกระทำทั้ง ๓ ทาง คือ ทางกายเรียกว่า กายกรรม ทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม และทางใจเรียกว่า มโนกรรม ดังคำสอนที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้สมบูรณ์ และทำจิตใจให้ผ่องใส จากคำสอนที่เป็นหลักการสำคัญนี้ทำให้เราทราบว่า การตั้งเป้าหมายหรือจุดประสงค์อะไรไว้ จะต้องลงมือทำให้ครบถ้วนกระบวนการ จึงจะสำเร็จ ในการทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน โดยเนื้อแท้แล้วเราทุกคนล้วนมีเป้าหมายอยู่ในใจแล้วว่าจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จตามนโยบาย ตลอดทั้งรักษาระเบียบวินัยข้อบังคับต่างๆ ให้ดีที่สุด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งเป้าหมายไว้เหมือนกัน แต่ไม่ตั้งใจทำ ถ้าจะเรียกล้อตามคำที่พูดกันว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” ก็ล้อเป็นคนประเภท “คิดใหม่ แต่ทำเก่า” ได้แก่ คิดได้แต่ไม่คิด คือไม่ใส่ใจงาน คิดได้แต่ไม่บอก คือไม่ประสานติดต่อ และคิดได้แต่ไม่ทำ คือไม่พอใจที่จะลงมือทำ คนประเภทนี้ก็เหมือนคนที่ไปถึงสถานีต้นทางแต่ไปไม่ถึงปลายทาง หรือจะเรียกว่าเป็นพวกบวชไม่ศึกษ์ก็คงไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย