วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

มาฆบูชา


                คำว่า “มาฆบูชา” หมายถึง การบูชาเป็นกรณีพิเศษในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันมาฆบูชามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ได้แก่
                ๑.วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
                ๒.พระสงฆ์จำนวน  ๑,๒๕๐ องค์ ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
                ๓.พระสงฆ์ที่มาประชุมกันวันนั้นล้วนได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
                ๔.พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
                วันมาฆบูชา จัดว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ คือคำสอนที่เป็นหลักการสำคัญ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา แก่พระสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในวันนั้น โอวาทปาติโมกข์ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนามีสามประการ คือ.-
                ๑.การไม่กระทำความชั่วทั้งปวง (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) หมายถึง การไม่ประพฤติผิดศีลธรรม หรือสิ่งใดก็ตามเมื่อกระทำแล้วจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสื่อมเสียแก่ตนเองและผู้อื่น ก็หลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งนั้นดุจบุคคลหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกเน่าเหม็น
                ๒.การยังกุศลให้ถึงพร้อม (กุสะลัสสูปะสัมปะทา) หมายถึง การกระทำความดี เช่น การให้ทาน รักษาศีล การไหว้พระสวดมนต์ การฟังเทศน์ หรือสิ่งใดก็ตามเมื่อกระทำแล้วก่อให้เกิดเกียรติยศชื่อเสียง คุณงามความดีแก่ตนเองและผู้อื่น ก็พยายามกระทำสิ่งนั้น ดุจบุคคลอาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกายแล้ว สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม
                ๓.การชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้สะอาด ผ่องแผ้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ดุจบุคคลเมื่ออาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามแล้วยังไม่พอ ต้องตกแต่งด้วยเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน เป็นต้น จึงจะดูดีมีเสน่ห์
                เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญภาวนา งดเว้นอบายมุขทุกชนิด และไปเวียนเทียนที่วัด ในตอนค่ำ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา    สังฆบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นการรักษาประเพณีอันดีงามอีกประการหนึ่ง สืบต่อไป
............................................