วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

วันครู


                วันที่ ๑๖ มกราคม ทางราชการกำหนดให้เป็นครู เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์จัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของครู ซึ่งถือว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องและเทิดทูนอย่างยิ่ง เพราะครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้และอบรมสั่งสอนให้ศิษย์ทุกคนเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ ครูที่มีอยู่ในโลกนี้ มีผู้แบ่งออกเป็นสามชั้นที่น่าสนใจ คือ
                ๑.ครูประจำบ้าน ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ้งถือว่าเป็นบุรพาจารย์ คืออาจารย์หรือครูคนแรกของลูกที่สอนให้เราได้ พูด นั่ง ยืน เดิน นอน ฯลฯ
                ๒.ครูประจำโรงเรียน ได้แก่ ครูอาจารย์ที่สอนศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์อย่างสิ้นเชิง โดยไม่ปิดบังอำพราง ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีและยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ ตลอดจนสร้างเครื่องคุ้มภัยในทุกสารทิศ คือฝึกสอนให้รู้จักเลี้ยงตัว รักษาตนให้ดำเนินไปด้วยดีนั่นเอง
                ๓.ครูประจำโลก ได้แก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นครูทั้งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นพระบรมครูที่ทรงแนะนำสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์ และให้มีสันติสุขภายในใจ คือ สะอาด สว่าง สงบ
                ครูอาจารย์นั้นเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของศิษย์ทีเดียว จึงต้องเป็นได้ทั้งเยี่ยงเป็นได้ทั้งอย่าง หรือเรียกว่าเป็นแม่พิมพ์ของศิษย์ได้ ถ้าครูอาจารย์มีข้อที่น่ารังเกียจ โดยเฉพาะครูประจำโรงเรียนก็จะทำให้ศิษย์พูดถึงหรือประกาศคุณความดีของครูได้ไม่เต็มปาก ไม่เต็มคำ ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนในจิตใจ
                พระพุทธเจ้าตรัสถึงครูที่ควรไหว้หรือควรสักการบูชาไว้เจ็ดประเภท คือ
                ๑.ครูที่ทำตัวให้ศิษย์รัก (ปิโย)                                           ๒.ครูหนักแน่นในจรรยา (คะรุ)
                ๓.ครูพัฒนาความรู้ (ภาวะนีโย)                                       ๔.ครูสู้อุตสาห์สอนศิษย์ตน (วัตตา)
                ๕.ครูอดทนต่อคำหยาบคาย (วะจะนักขะโม)               ๖.ครูขยายคำลึกซึ้ง (คัมภีรัง กะถัง กัตตา)
                ๗.ครูไม่ดึงศิษย์ไปในทางเสียหาย (โนจัฏฐาเน นิโยชะเย)
                ดังนั้นเมื่อวันครูเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นศิษย์มีครู ก็ควรน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านเหล่านั้น และบูชาท่านด้วยอามิสบูชาคือวัตถุสิ่งของตามสมควร และปฏิบัติบูชาคือด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านอย่างเคร่งครัดด้วยกตัญญูกตเวที ก็จะเป็นความดีเป็นสิริมงคลแก่เราผู้เป็นศิษย์และเป็นการประกาศเกียรติคุณของครูได้อีกทางหนึ่ง

............................................