วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

วันวิสาขบูชา


                วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวโลกรับรู้พร้อมกันว่า เป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก วันที่พระองค์ตรัสรู้สัจธรรม และเป็นวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันดังกล่าวนี้มาถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ต่างพากันบูชาสักการะพระพุทธองค์เป็นพิเศษ และเรียกวันนี้ว่า        “วันวิสาขบูชา”
                นักปราชญ์ของโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก ได้แสดงทัศนะต่อพระพุทธองค์ และต่อหลักธรรมของพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่าง
                มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของอินเดียผู้มีชื่อเสียงก้องโลก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้านั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ...”
                รพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระโอรสของภารตประเทศที่รุ่งโรจน์ที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และชาญฉลาดที่สุดในโลก...”
                ดร.เอส. ราธกฤษณัน อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย กล่าวว่า “ไม่เคยมีเลยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาการขุ่นเคือง ไม่เคยมีเลยที่ถ้อยคำปราศจากเมตตาหลุดจากพระโอษฐ์ของพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว”
                ศาสตราจารย์ รีส เดวิดส์ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบระบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกแล้ว ข้าพเจ้าไม่พบหลักฐานคำสอนของศาสนาใดจะเลิศล้ำกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ และ อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าเลย...”
                เซอร์ เอดวิน อาร์โนลด์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประทีปแห่งเอเชีย” กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำอีกว่าระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้น มีสายสัมพันธ์ทางสติปัญญาอยู่อย่างใกล้ชิดมาก...”
                อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ถ้าจะมีศาสนาใดๆ ที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนานั้นก็คือ พุทธศาสนา”
                เป็นเวลานานมาแล้วที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญทั่วโลกต่างยกย่องพระพุทธศาสนา องค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก สำหรับประเทศไทยและคนไทยชาวพุทธ เราแล้วสมควรอย่างยิ่งที่จะน้อมรำลึกและกระทำการบูชาให้ครบทั้ง ๒ ส่วน คือบูชาด้วยวัตถุสิ่งของที่เรียกว่า “อามิสบูชา” และด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนที่เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา” มิใช่เพียงรับรู้ว่าเรามีของดี มีคุณค่าที่โลกยกย่องนับถือแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรให้ได้รับรสแห่งสันติสุขอันเกิดจากของดีนั้นด้วย

............................................