วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว


                คนที่ขัดแย้งกันมักจะคิดทำลายซึ่งกันและกันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น นินทาว่าร้าย พูดกระทบให้เจ็บใจ ให้ร้ายป้ายสี ใส่ความ แม้กระทั่งแช่งชักหักกระดูก อยากให้คู่อริพินาศวิบัติย่อยยับไป แต่การทำลายกันใช่ว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นที่จะถูกทำลาย แม้ตนเองก็อาจถึงความย่อยยับไปด้วย ทั้งที่ฝ่ายตรงข้ามมิได้โต้ตอบหรือทำอะไรให้เลย หากว่าคนที่ตนประทุษร้ายนั้นเป็นคนบริสุทธิ์ มิได้มีความผิดคิดร้ายอะไรอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือใส่ร้าย และเขาก็ไม่คิดร้ายตอบ ผู้ที่ประทุษร้ายเขานั้นแหละจะได้รับผลจากการกระทำของตน ฐานทำให้ผู้บริสุทธิ์หรือผู้ไม่มีความผิดได้รับความเดือดร้อนทั้งกายและใจ ท่านเปรียบเหมือนกับฝุ่นละอองที่ถูกเป่าทวนลมไป จะถูกลมพัดย้อนกลับมาหาผู้เป่า นั่นเอง
                พระพุทธศาสนาแสดงโทษที่เกิดจากการประทุษร้ายผู้ที่ไม่ประทุษร้ายตอบไว้ ๑๐ ประการ คือ
                ๑. ได้รับความเจ็บปวดร้ายแรง
                ๒. สูญเสียเงินทอง
                ๓. ความตายเข้ามาตัดรอน
                ๔. เกิดความเจ็บป่วยอย่างหนัก
                ๕. จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวาย
                ๖. เกิดความขัดข้องในหน้าที่การงาน
                ๗. ถูกกล่าวตู่ร้ายแรง
                ๘. สูญเสียญาติมิตร
                ๙. ทรัพย์สมบัติเสียหาย
                ๑๐. ไฟไหม้บ้าน
                บาปกรรมทั้งปวงนี้ ย่อมตามผจญผู้ประทุษร้ายเขานั้นเรื่อยไป ไม่ให้มีความสุขสงบในชีวิต เช่น อยู่ๆ ก็เกิดเจ็บป่วย โดยไม่รู้สาเหตุและรักษาเท่าไรก็ไม่หาย หรือถูกใส่ความโดยเรื่องที่ไม่เป็นจริง หรือประสบอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน เป็นต้น ทุกข์โทษดังกล่าวคนส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงและมักมองข้ามกันไปเสียหมด จึงมักโทษโน่น โทษนี่ ไปสารพัด แต่ลืมโทษตัวเอง
                ดังนั้น เมื่อไม่ต้องการได้รับทุกข์โทษต่างๆ และไม่ต้องมีเวรภัยกับผู้อื่น ก็จงอย่าทำร้ายใคร อย่าใส่ร้ายหรือพูดให้ร้ายใคร รวมทั้งอย่าไปคิดร้ายใคร เพราะถ้าคนที่ตนประทุษร้ายนั้น เป็นคนดี เป็นคนบริสุทธิ์ โทษ ๑๐ ประการ ข้างต้นจะย้อนกลับมาหาตนเองโดยไม่คาดคิด

..........................................