วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หยิบผิด


                มนุษย์โลกต้องมีโอกาสทำผิดพลาดกันทั้งนั้น จะต่างกันบ้างก็ตรงที่ผิดมากหรือผิดน้อยกว่ากันเท่านั้น กล่าวคือ คนที่ทำด้วยความรอบครอบ มีโอกาสผิดพลาดน้อย ส่วนคนที่ทำโดยขาดความรอบคอบมีโอกาสผิดพลาดมาก แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน หากขาดการพิจารณาใคร่ครวญที่เรียกว่า “ความรอบครอบ” แล้วก็อาจทำให้เกิดผลเสียหายขึ้นมาได้ ดังมีเรื่องเล่าว่า
                มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง วันหนึ่งภรรยาจะไปตลาดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ ๑๐ กม. สามีบอกให้ภรรยาเอาเหรียญหลวงพ่อปานบนหิ้งพระไปเลี่ยมกรอบที่ร้านที่คุ้นเคยกันในตลาดด้วย ภรรยาได้หยิบเหรียญบนหิ้งพระไปถึงร้านก็มอบเหรียญให้ช่าง แล้วก็ไปทำธุระที่อื่น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมารับเหรียญพร้อมจ่ายเงิน เมื่อมาถึงบ้านจึงเอาเหรียญที่เลี่ยมแล้วยื่นให้สามี สาดีดูแล้วก็ตกใจ เพราะเหรียญที่ภรรยายื่นให้ไม่ใช่เหรียญของหลวงพ่อปาน ทั้งสองจึงคิดว่าคงจะถูกช่างเปลี่ยนเอาพระไปแล้ว จึงชวนกันไปที่ร้านเลี่ยมพระอีกครั้ง เมื่อถึงก็ต่อว่าเจ้าของร้าน และช่างเป็นการใหญ่ แต่ทางร้านก็ยืนยันอย่างแข็งขันว่าเหรียญนี้เป็นเหรียญเดียวกับที่นำมาให้เลี่ยมจริงๆ สามีภรรยาจึงหมดหวังที่จะได้เหรียญหลวงพ่อปานกลับคืน เมื่อกลับถึงบ้าน สามีตรงไปที่หิ้งพระเพื่อเก็บเหรียญที่เลี่ยมมาและได้ตรวจดูบนหิ้งพระก็พบว่า เหรียญหลวงพ่อปานยังอยู่ที่เดิมนั่นเอง
                จากเรื่องที่ยกมาจะเห็นว่า เพราะความไม่รอบคอบ สามีภรรยาคู่นี้จึงต้องเสียเวลาเดินทาง ไป-กลับ ๒๐ กม. และเกือบจะเสียไมตรีกับร้านเลี่ยมกรอบ ที่ไปต่อว่ากล่าวหาเขาอย่างผิดๆ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เสียอารมณ์ เสียความสงบสุขในครอบครัวอย่างไม่ควรจะเสียไประยะหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือเรื่องระดับประเทศชาติ ความไม่รอบครอบก็จะยิ่งก่อผลเสียอย่างมหาศาล ดังนั้น จะทำสิ่งใดต้องไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ดังหลักธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสเตือนใจไว้ว่า นิสัมมะ กะระณัง เสยโย แปลว่า การพิจารณาใคร่ครวญแล้วจึงทำ ประเสริฐกว่า.

.............................................