วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

หลักธรรมสำหรับผู้นำ


                การปกครองโดยทั่วไป จำเป็นต้องมีผู้นำเสมอ เพราะว่าผู้นำเป็นสัญลักษณ์แห่งความอยู่รอดของผู้ตาม รับภาระหน้าที่นำคนในสังคมของตนให้รอดพ้นอุปสรรคและอันตรายทั้งปวง เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งฝั่ง คือความเจริญรุ่งเรืองและความร่มเย็นเป็นสุข ในทางพระพุทธศาสนาได้กำหนดหลักธรรมของผู้นำไว้ ๖ ประการคือ
                ๑.ขะมา มีความอดทน อดกลั้นไม่หวั่นไหว ผู้นำต้องใช้ความอดทนโดยยึดหลักที่ว่า อด คืออดต่อการว่ากล่าวถากถาง และความลำบากตากตำ และทน คือทนด้วยความไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ
                ๒.ชาคะริยะ มีความระมัดระวัง ผู้นำต้องปกป้องผองภัยให้แก่บริษัท บริวารของตน ต้องเป็นผู้มีสายตากว้างไกล มองรอบด้าน เห็นการณ์ไกล รู้เหตุเภทภัยที่จะเกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว เพื่อหาทางป้องกันหรือกำจัดเสีย
                ๓.อุฏฐานะ มีความขยันหมั่นเพียร ผู้นำต้องขยันขันแข็ง ไม่กลัวความลำบาก มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่ในการทำงาน ไม่ท้อถอย ยิ่งยากยิ่งอยากทำ ยิ่งลำบากยิ่งมุมานะ ยิ่งมีสิ่งยั่วยิ่งเข้มแข็งอดทน
                ๔.สังวิภาคะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผู้นำต้องเป็นคนมีน้ำใจ พร้อมที่จะให้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอา
                ๕.ทะยะ มีความเอ็นดู ผู้นำต้องเป็นคนมีใจการุณ สร้างความอบอุ่นให้เกิดแก่ผู้ที่อยู่ในปกครองของตน
                ๖.อิกขะนา หมั่นตรวจตรา ผู้นำต้องพาตนเข้าไปใกล้ชิดกับงานที่รับผิดชอบ หากมีข้อเสียหาย ขาดตกบกพร่องจะได้รู้ทัน และสามารถหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
                ทั้งหมดคือความประเสริฐของผู้นำที่ยึดหลักธรรมดังกล่าวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด หรือมีคำกลอนดังว่า
                                                     ความมีใจไมตรีอารีเอื้อ                นั้นช่วยเหลือให้มีมิตรสหาย
                                                กิริยาพาทีไม่หยาบคาย                       คนทั้งหลายชอบชิด สนิทตน
                                                อีกมีใจเมตตาการุณยภาพ                  จะเอิบอาบไปทั่วทุกแห่งหน
                                                ถ้ามีความชอบธรรมจำนำตน            ไปสู่ผลความดีเป็นศรีเอย

..................................