วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทเรียนชีวิต


                ในโลกนี้มีหลายอย่างที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตว่าอะไรควรหลีกเว้น อะไรควรกระทำ ตลอดจนจะใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไรจึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ เพราะผู้ที่เรียนรู้มากทั้งด้านวิชาการและมีประสบการณ์ จัดว่าเป็นพหูสูต คือผู้คงแก่เรียน ย่อมมีความฉลาดที่จะดำรงตนอยู่ในโลกนี้อย่างมีคุณค่าและสร้างสรรค์
                สิ่งที่คนเราเรียนรู้แต่ละอย่าง เช่น กฎกติกาที่ตั้งใจ ค่านิยมของสังคม พฤติกรรมของคน ตลอดทั้งผลงานของคนที่ล้มเหลว หรือประสบผลสำเร็จ รวมทั้งการกระทำและประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นบทเรียนของชีวิตได้ทั้งนั้น คนที่รู้หลักการว่าสิ่งที่จะทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ย่อมมีความมั่นใจมากกว่าคนที่ไม่รู้เลย ด้วยเหตุนี้ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้ใคร่ครวญโดยรอบคอบก่อน แล้วจึงลงมือทำ ซึ่งหมายถึง ให้การศึกษาเรียนรู้ก่อนว่า เมื่อทำ พูด คิดสิ่งนั้นแล้ว จะมีผลดีหรือเสียอย่างไร มิใช่ทำลงไปแล้วจึงมาคิดภายหลัง เพราะอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ หากบุคคลสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ผลงานที่ปรากฏออกมาย่อมเป็นไปในทางที่ดี สร้างความชื่นใจแก่ผู้ทำและนำความสงบสุขสู่สังคม
                แต่บางครั้ง คนเราทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี ก็ยังฝืนทำ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ อีกทั้งสติยังไม่มั่นคง จึงจำเป็นต้องฝึกสติให้มั่นคงและรู้เท่าทัน เพื่อจะได้ควบคุมจิตใจไว้ในแนวทางที่ถูกต้อง สามารถเอาชนะแรงดึงดูดจากสิ่งยั่วยวนต่างๆ ได้ เพราะมนุษย์ที่ฝึกฝนตนดีแล้วเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ มนุษย์ที่ไม่ฝึกตนให้ดี ไม่ประเสริฐเลย
                ดังนั้น การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมจึงต้องเรียนรู้หลายๆ ด้าน เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เพราะความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนย่อมส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

.............................................