วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

สุขะ


       อันตัวเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น และด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงจัด “ความสุข” ว่าเป็นสิ่งประเสริฐที่บุคคลทุกหมู่เหล่าปรารถนา และถ้าการแสวงหาความสุขเช่นนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วยแล้ว ก็ยิ่ง จะเป็นความสุขที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ เหมาะสมที่จะเป็นพรข้อที่ ๓ ในบรรดาพร ๔ ประการ
               ตามหลักพระพุทธศาสนา ความสุขของสามัญชนผู้ครองเรือน มี ๔ ประการ คือ
          ๑. อัตถิสุข ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์สินเงินทอง จะเห็นได้ว่า ความมั่งมีก็ช่วยให้เกิดความสุขได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการมีทรัพย์ ซึ่งก่อให้เกิดความปลื้มใจ ความอิ่มใจ
         ๒. โภคสุข ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค เมื่อมีความสุขจากการมีทรัพย์แล้ว ก็ควรจะหาความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์นั้นบ้าง เพราะถ้ามีไว้โดยไม่ได้ใช้จ่ายเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์และไม่เกิดความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์
          ๓. อรณสุข ความสุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้ การใช้จ่ายทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดสุขนั้น จะต้องระวังไม่ให้เกินตัว จนเกิดปัญหาพาก่อหนี้ จึงจะมีความสุข ไม่ต้องลำบากรับบทเป็นมิตรเมื่อกู้ เป็นศัตรูเมื่อถูกทวง
         ๔. อนวัชชสุข ความสุขที่เกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ การงานที่สุจริตถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีโทษ คือไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดหลักศีลธรรม เป็นฐานให้ความสุขอื่นๆ เกิดตามมา
          คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนคนใดมีทรัพย์สิน ใช้จ่ายทรัพย์สินนั้นเพื่อการบริโภค ไม่มีหนี้สิน และประกอบอาชีพสุจริต คฤหัสถ์ผู้นั้นจัดเป็นบุคคลที่มีพรข้อที่ ๓ คือ สุขะ ดังกล่าว นั่นเอง
         สุขตามที่กล่าวมานี้เป็นสุขที่ยังต้องมีเครื่องล่อให้เกิด เช่น ต้องมีทรัพย์ ต้องใช้จ่ายทรัพย์ เป็นต้น ยังเสี่ยงต่อการที่จะเกิดทุกข์ได้ง่าย เช่น มีทรัพย์ก็ต้องมีภาระในการบริหารดูแลทรัพย์ ถ้าทรัพย์สูญเสียไปก็เกิดทุกข์ หรืออาจใช้ทรัพย์ไปในทางที่ก่อให้เกิดโทษ ก็เป็นทุกข์ได้อีก ท่านจึงสอนให้รู้จักสร้างสุข ที่ไม่ต้องมีวัตถุเป็นเครื่องล่อ คือสุขที่เกิดจากการทำความดี มีศีลธรรม บรรเทาความโลภ โกรธ หลง ให้น้อยลง บำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น เป็นต้น ทำได้เช่นนี้ ความสุข สงบ เย็น อันเป็นความสุขที่บริสุทธิ์สะอาด ก็จะเกิดขึ้น เป็นพรอันประเสริฐ แก่ชีวิตของเรา

..........................................