วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

วัตถุมงคล


                ปุถุชนคนธรรมดา เมื่อเกิดความกลัวหรือไม่มั่นใจในสิ่งที่ จะทำก็มักจะแสวงหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อเป็นที่พึ่งให้จิตใจมีพลังที่จะต่อสู้กับปัญหาและความหวาดกลัวต่างๆ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจดังกล่าวนี้      คนไทยโดยทั่วไปนิยมเรียกกันในสมัยนี้ว่า วัตถุมงคล
                คำว่า “วัตถุมงคล” นั้น แม้จะยังไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่คนส่วนมากก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงพระเครื่อง พระบูชา เหรียญคณาจารย์ต่างๆ รวมทั้ง ตะกรุด ปลัด และวัตถุที่นับถือกันว่าขลัง และศักดิ์สิทธิ์ อีกหลายชนิด วัตถุมงคลเหล่านี้ เมื่อได้พกพาติดตัวไว้แล้วก็เกิดความอุ่นใจ สบายใจ วันไหนออกจากบ้านแล้วลืม วัตถุมงคลเหล่านั้นไว้ที่บ้าน ก็อาจจะถึงกับไม่สบายใจ ทำกิจการงานอะไรก็ ไม่มั่นใจไปเลยก็มี ในสมัยก่อนวัตถุมงคลต่างๆ นั้น หลวงพ่อ พระอาจารย์จะมอบให้ลูกศิษย์ใกล้ชิด ก็พิจารณาหลายรอบและท่านมั่นใจแล้วว่าผู้นั้น เป็นคนดีจึงจะมอบให้ และให้เปล่าๆ ไม่มี ราคาพร้อมกันนั้นก็จะกำชับสั่งสอนตักเตือนให้ลูกศิษย์เว้นจากความชั่ว ประพฤติดี แล้วพระจะคุ้มครองแต่สมัยนี้ วัตถุมงคลกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์ หาซื้อได้ด้วยเงินทอง ยิ่งนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ราคาก็ยิ่งสูงมาก การปลอมแปลงก็เกิดขึ้นมากไปด้วย หนักเข้าวัตถุมงคลก็กลายเป็น วัตถุที่ไม่เป็นมงคล คือมีวัตถุมากกว่ามงคล สำหรับชาวพุทธนั้น ท่านกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานไว้ชุดหนึ่งมี ๕ ข้อ ๑.ศรัทธา  ๒.มีศีล  ๓.ไม่ถือมงคล ตื่นข่าวคือเชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล  ๔.ทำบุญคือ ทำความดีตามหลักพระพุทธศาสนา  ๕.อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา โดยเฉพาะคุณสมบัติข้อ ๓ ไม่ถือมงคลตื่นข่าวนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ เรายึดวัตถุมงคลติดตัวไว้ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นใจ และยึดเหนี่ยวใจเตือนสติไว้เสมอว่าอย่าไปทำชั่วพระท่านเห็นนะ แม้ว่าเราจะแขวนวัตถุมงคลมากมายสักปานไร ถ้าจิตใจไม่สะอาดไปประพฤติชั่วเข้าแล้ว วัตถุมงคลเหล่านั้น ก็ไม่สามารถคุ้มครองเราได้ และไม่อาจทำให้เรามีความสุขความเจริญได้เลย ถ้าเราไม่พยายามทำความดีด้วยตัวเราเองเสียก่อน

.......................................