ในการปกครองบังคับบัญชา
ธรรมะมักจะถูกนำมาอ้างอิงหรือพูดถึงอยู่เสมอ เช่น เราปกครองกันด้วยธรรมะ
หรือเราอยู่กันด้วยเมตตา เป็นต้น จนบางครั้ง
เป็นเหตุละเลยการกวดขันให้เป็นไปตามระเบียบหรือลงโทษผู้กระทำผิด
หากใครไปกวดขันเอาจริงเข้า ก็อาจถูกมองว่าเป็นผู้ขาดเมตตาไปได้ง่ายๆ ความจริง
เมื่อจะใช้สิ่งของอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องศึกษาให้รู้วิธีการเสียก่อนจึงจะใช้ถูก
ธรรมะก็เหมือนกัน แต่บางคนใช้ธรรมะโดยวิธีฟังชื่อแล้วบวกเข้ากับความเข้าใจของตน
เช่น พอได้ยินชื่อว่าเมตตาก็เอาประสบการณ์ และความรู้สึกเข้าจับแล้ว
มองเห็นเป็นช่องเป็นชั้นว่า หมายถึงอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ทั้งที่ความจริง
เมตตาที่ถูกแท้นั้น ต้องปฏิบัติให้ครบหลักการใหญ่ที่ท่านเรียกว่า พรหมวิหาร คือ
๑.
เมตตา ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน
๒.
กรุณา ความสงสาร ช่วยเหลือกันเมื่อยามประสบทุกข์
๓.
มุทิตา ความเบิกบาน พลอยยินดีเมื่อเขามีสุข
๔.
อุเบกขา ยึดในเหตุผล วางเฉยเพื่อรักษาความถูกต้อง
ทั้ง
๔ ข้อนี้ต้องมีให้ครบ คือปฏิบัติข้อใดก็ต้องไม่ให้เสียถึงข้ออื่นที่เหลือ เช่น
จะเมตตากรุณาก็ต้องไม่ให้เสีย อุเบกขา ไม่ให้ความผิดถูกหรือความเป็นธรรมต้องเสียไป
หรืออุเบกขาวางเฉยก็เพราะเหตุสุดวิสัยจะช่วยได้ด้วยถึงคราวที่จะต้องยึดหลักการ
แต่ใจนั้นยังเมตตาสงสารอยู่ ไม่โกรธแค้นชิงชัง
ในแง่ของการปกครอง
เมตตาที่ขาดอุเบกขา ก็หย่อนยานไร้สมรรถภาพ อุเบกขาที่ไม่มี เมตตาก็เครียดเป็นทุกข์
และหวาดระแวง ดังนั้น แม้จะพูดเพียงสั้นๆ ว่าเราอยู่กันด้วยเมตตา
แต่ในทางปฏิบัติต้องผสมผสานกันให้ได้เป็นอย่างดีระหว่าง เมตตา กรุณา มุทิตา
และอุเบกขา
.......................................