วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

มุทิตาจิต


                มุทิตาจิต หมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจชื่นชมยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีหรือได้รับความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในใจเองโดยไม่มีใครบังคับ แต่เกิดขึ้นเพราะจิตใจที่ปราศจากความอิจฉาริษยา เกิดขึ้นเพราะเป็นผู้มีปกติ ยอมรับในความดีหรือความสำเร็จของคนอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกเป็นคำเต็มได้ว่า “มุทิตาจิต” คุณธรรมข้อมุทิตาจิตนี้ มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ หรือเกิดขึ้นแก่ทุกคน คนที่ทำให้จิตเกิดมุทิตาธรรมได้ ต้องเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถยกระดับจิตใจให้สูงกว่าคนธรรมดาสามัญ เป็นคนเปิดใจกว้างยอมรับความดีของผู้อื่นและพร้อมเสมอที่จะแสดงความชื่นชมเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ผู้ทำได้ดังนี้ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นผู้ยกระดับจิตใจถึงขั้นระดับเป็นพรหมทีเดียว เพราะมุทิตานั้นเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของพรหม การแสดงออกซึ่งมุทิตาจิต มิได้หมายถึงการนำเครื่องสักการะไปถวาย การนำกระเช้าดอกไม้ไปให้ การเลี้ยงสังสรรค์กันในโอกาสต่างๆ หรือการกล่าวอวยพรกันเท่านั้น เพราะการแสดงออกเช่นนั้นเป็นเพียงเครื่องหมายที่ให้รู้ว่ามีมุทิตาธรรมอยู่ในใจ แท้จริงมุทิตานั้นจะต้องเริ่มต้นเกิดที่จิตใจก่อน เช่น แสดงความยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น โดยเริ่มต้นจากคนในครอบครัวก่อนก็ได้ เช่น ยินดีต่อน้องๆ ที่สอบได้ ยินดีต่อพี่ๆ ที่ได้งานทำ ขยายวงกว้างออกไปจนถึงเพื่อนๆ ต่อไปถึงผู้ร่วมงาน เมื่อทำได้อย่างนี้ไม่นานมุทิตาก็จะเกิดขึ้นเต็มจิตใจและขยายกว้างออกไปจนมีเขตจำกัด ผลดีน่าอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ อาการหงุดหงิดงุ่นง่าน อันเกิดจากความอิจฉาริษยาจะหมดไปจากจิตใจ เหลือแต่ปีติที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้ชุ่มชื่น อยู่เสมอ มุทิตาจิต เป็นยาวิเศษที่ทำให้คนเรายิ้มแย้มเข้ากันคบกันได้อย่างสนิทใจ เป็นโซ่ทองคล้องใจกันได้นานแสนนาน สมดังโคลงโลกนิติ ที่ว่า
                                มุทิตาเตือนจิตให้  คนหวัง พึ่งนา
                                แรงเคียดคนหน่ายชัง  ทั่วหนา
                                ทานเป็นยอดยายัง  เกียรติยศ ยิ่งแฮ
                                ริษยากลกำพรา  พรากผู้สมาคม
                ดังนั้น เราควรสร้างมุทิตาธรรมให้เกิดมีในจิตใจกันเถิด เพื่อสังคมจะไดสงบสุขและสดใส

.......................................