ม่านคือสิ่งที่ปิดกั้นหรือบังไว้มิให้มองเห็นอีกด้านหนึ่ง
อาจมีลักษณะหนาทึบมองเห็นเพียงตัวม่าน หรือถ้าม่านนั้นบาง
อาจมองเห็นสิ่งที่อยู่หลังม่านเพียงเลือนราง ม่านที่บังสายตา จัดเป็นม่านภายนอก
เรียกว่า ม่านบังตา แต่มีม่านอีกชนิดหนึ่งเป็นม่านภายในเรียกว่า ม่านบังใจ
สิ่งที่ถือว่าเป็นม่านบังใจนั้นหลายแบบ แต่ที่สำคัญมีอยู่ ๓ แบบ คือ
แบบที่
๑ ได้แก่ ความยากได้ในทางที่ผิด
ถ้าบังใจใครเข้าแล้วจะทำให้เกิดอาการหิวโหยอยากได้แล้วชักจูงใจลงมือปฏิบัติการต่อทรัพย์สินของผู้อื่นในทางที่มิชอบ
มองเห็นแต่จะได้เพียงด้านเดียว ไม่เห็นความเสียหายซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา
แบบที่
๒ ได้แก่ ความคิดประทุษร้าย เมื่อบังใจใครเข้าแล้ว ใจจะเร่าร้อน เดือดดาล
หงุดหงิดคิดทำร้ายประหัตประหาร รู้สึกสะใจเมื่อได้ทำเช่นนั้น
มองเห็นแต่ส่วนที่ต้องทำลายล้างอย่างเดียว
หาได้เฉลียวใจถึงผลกรรมร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นไม่
แบบที่
๓ ได้แก่ ความหลงผิด หากบังใจของใครแล้ว จะทำให้มืดมิดมืดมัว
ชักจูงให้หลงใหลในอบายมุขบ้าง ติดใจความสบายเห็นความมักง่ายเป็นนิสัยควรทำบ้าง
เข้าทำนองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นชั่วเป็นดี เคลิบเคลิ้มไปกับสิ่งไร้สาระ
ปล่อยให้ชีวิตผ่านไปอย่างไร้จุดหมาย แม้อยู่กับสิ่งที่เป็นอันตรายก็ไม่รู้
เพราะแยกไม่ออกว่ามีโทษ เห็นแต่เพียงว่าเป็นประโยชน์เพราะตนพอใจเท่านั้นเอง
เมื่อใจถูกม่านดังกล่าวมาบดบังไว้
ต้องรีบทำลายหรือปลดม่านนั้นออกด้วยวิธีการทางธรรมะ กล่าวคือ ใช้ทานหรือการรู้จักเสียสละพิชิตม่านคือโลภะ
ใช้ขันติ และเมตตาขจัดม่านคือโทสะ และใช้ปัญญารู้ผิดชอบชั่วดีปลอดเปลื้องโมหะ
ดังนั้น
ผู้ต้องการมีชีวิตปกติสุข จะต้องระวังอย่าให้เกิดม่านขึ้นมาบังใจเป็นอันขาด
หากมีก็ต้องรีบสะสาง แก้ไขทันที ไม่ควรมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
เมื่อไม่มีสิ่งใดมาเป็นม่านบังใจแล้ว ชีวิตย่อมแจ่มใส ปลอดภัยและเป็นสุข
.......................................