วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การบริหารความขัดแย้ง


                 คนเรานั้น ถ้ามีความเห็นต่อปัญหาต่างๆ ไม่เหมือนกัน ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันได้เพราะต่างคนก็มุ่งจะผลักดันวิธีการของตนเพื่อไปสู่เป้าประสงค์ที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นจึงต้องช่วยกันบริหารจัดการความขัดแย้งนั้นให้สงบระงับเสีย ด้วยการปรับตัวในสามเรื่อง
                แรกสุดก็คือการยึดถือผลประโยชน์ร่วมกัน หมายถึงหาจุดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันให้ได้เพราะมนุษย์ย่อมมีความสัมพันธ์กันด้วยผลประโยชน์ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่น มีชาตินี่แหละเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าชาติล่มสลายทางด้านความมั่นคงบ้าง ด้านเศรษฐกิจบ้าง ก็จะไม่มีใครอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่เคยเป็นเมื่อมีจุดที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันอย่างนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกันรักษาประโยชน์นั้นไว้ให้ได้ก่อน
                ต่อมาก็ถึงขั้นของความเสียสละ คือสละผลประโยชน์ส่วนตนบ้าง ความคิดเห็นส่วนตนบ้าง และความรู้สึกส่วนตนบ้าง เพราะผลประโยชน์ ทิฐิ และอารมณ์ ล้วนเป็นอาหารโอชะที่หล่อเลี้ยงความขัดแย้งให้งอกงาม การยอมสละเรื่องเหล่านี้บ้าง จึงไม่ใช่เสียทั้งหมด แต่เป็นการเสียบางอย่างเพื่อให้ได้บางอย่าง
                สุดท้ายก็คือต้องยึดระเบียบวินัยไว้ให้ได้ เคารพกฎกติกาของสังคมทั้งที่เป็นกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมทางศาสนา ระเบียบวินัยนี้ จะเป็นตัวควบคุมระดับของความขัดแย้ง และเปิดโอกาสให้การบริหารจัดการความขัดแย้งดำเนินไปได้ เพราะหากละเมิดกฎตามใจชอบก็ต้องเสียเวลาไปแก้ไขผลร้ายที่เกิดจากการละเมิดนั้นร่ำไป โอกาสที่จะแก้ความขัดแย้งเดิมก็ไม่มี แถมเพิ่มความขัดแย้งใหม่เข้ามาอีก
                ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างก็ดี จากผลประโยชน์ก็ดี จากอารมณ์ก็ดี เกิดได้ทุกที่ ทั้งระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเกิดได้แม้ระหว่างพ่อกับลูกซึ่งเป็นสายเลือดเดียวกันด้วยซ้ำ ไม่จำต้องกล่าวถึงสังคมคนหมู่มาก แต่ถ้าเกิดแล้วแก้ไขได้เรื่องก็จบ ถ้าแก้ไขไม่ได้จะไม่เป็นผลดีกับฝ่ายไหนเลย คือไม่มีใครได้ชัยชนะอย่างแท้จริง พึงดูครอบครัว สังคมหรือประเทศชาติอื่นที่เคยตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งมาแล้วเถิด
......................................