วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คู่มือมนุษย์(๖)

คนเราคิดอะไร (เบญจขันธ์)
                อะไรเป็นที่ตั้งที่ยึด ที่เกาะเกี่ยวของอุปาทาน ที่ตั้งของอุปาทานก็คือโลกนี้เอง คำว่า “โลก” ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายกว้างกว่าความหมายตามธรรมดา คือหมายถึงสิ่งทั้งปวงทั้งสิ้นกันทีเดียว ไม่ว่าจะเกี่ยวกับมนุษย์ เทวดา พรหม สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ปีศาจ เปรต อสุรกาย อะไรก็สุดแท้ที่จะมี รวมแล้ว ก็เรียกว่าโลก
๑๖๒
                การรู้จักโลก มีความหมายอยู่ตรงที่ว่ามันมีความลึกลับเป็นชั้นๆ เรารู้จักกันแต่ชั้นนอกๆ ที่เรียกว่า “ชั้นสมมติ” นี้ หมายถึงตามสติปัญญาของคนทั่วๆ ไป พระพุทธศาสนาจึงมีการสอนให้ดูกันหลายๆ ชั้น ท่านมีวิธีแนะให้ดูการจำแนกโลกออกเป็นฝ่ายวัตถุ ซึ่งเรียกกันว่า รูปธรรมอย่างหนึ่ง ฝ่ายจิตใจเรียกว่านามธรรม อีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรมหรือจิตใจนี้ออกเป็น ๔ ส่วน เมื่อเอารูปธรรม ๑ ส่วนมารวมกันเข้ากับนามธรรมก็ได้เป็น ๕ ส่วน ท่านเลยเรียกว่า เบญจขันธ์หรือขันธ์ห้า แปลว่าส่วน ๕ ส่วน ประกอบกันขึ้นเป็นโลก คือเป็นสัตว์เป็นคนนี่เอง
๑๖๓
                การดูโลก ก็หมายถึงกาดูสัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคน เพราะปัญหาอยู่ที่เรื่องของคน ร่างกายเป็นวัตถุที่เรียกว่ารูปหรือรูปขันธ์ (ส่วนที่เป็นรูป) ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วน นั้นจำแนกไปได้คือ
๑๖๔
                ส่วนที่ ๑ เรียกว่า “เวทนา” หมายถึงความรู้สึก ๓ ประการ คือสุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง อีกแบบหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์ คือเป็นเรื่องที่ยังเฉยๆ อยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกเหมือนกัน ความรู้สึกนี้มีประจำอยู่ในคนเราเป็นปกติ วันหนึ่งๆ ย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึก ท่านจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบกันเป็นคน และเรียกส่วนนี้ว่า เวทนา หรือเวทนาขันธ์
๑๖๕
                ส่วนที่ ๒ เรียกว่า “สัญญา” แปลว่ารู้ตัว เป็นความรู้สึกตัวอยู่เหมือนอย่างว่าเรากำลังตื่นอยู่ คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือเรียกว่ามีสติสมปฤดี โดยทั่วๆ ไป มักจะอธิบายกันว่าเป็นความจำได้หมายรู้ ก็ถูกเหมือนกัน เพราะว่ายังไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกระทบอะไร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็รู้สึกหรือจำได้ว่าเป็นอะไร เช่น รู้ว่า เขียว แดง สั้น ยาว คน สัตว์ ฯลฯ ตามแต่จะจำได้ นั่นแหละ เป็นความรู้สึกของสมปฤดี หรือ “สัญญา” ในที่นี้
๑๖๖
                ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สังขาร” มีความหมายมาก จนมันปนกันยุ่งไปหมด เราพูดถึงสังขารที่เป็นส่วนของนามธรรมนี้กันก่อนแปลว่า “ปรุง” คือกิริยาอาการของสิ่งที่เป็นอยู่ในคนหนึ่งๆ ได้แก่ การคิดหรือความคิดเช่น คิดจะทำ คิดจะพูด คิดอย่างนั้นอย่างนี้ คิดดี คิดเลว คิดในทางไหนก็จัดเป็นความคิดทั้งนั้น ความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งภายในใจนั้นเรียกว่าสังขาร คำว่า สังขาร ในที่อื่นนั้น หมายถึงบุญกุศลที่ปรุงแต่งคนให้เกิดขึ้นก็มี หมายถึงร่างกายหรือโครงร่างที่มีจิตใจครองดังนี้ก็มี มีความหลายทาง แต่ตรงกันโดยเหตุที่มันมีความหมายไปในทางมีการปรุงแต่ประกอบกันขึ้นมา
๑๖๗
                ส่วนที่ ๔ เรียกว่า “วิญญาณ” หมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น และที่กายทั่วๆ ไปตลอดถึงที่ใจของตนเองด้วย (ไม่ใช่เจตภูตอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน)
๑๖๘
                ขันธ์ห้านี่แหละเป็นที่เกาะยึดของอุปาทานทั้ง ๔ ที่ได้อธิบายแล้ว ขอให้ย้อนไปอ่านแล้วนำมาพิจารณาให้เข้าใจกันให้ดี ให้รู้ว่าความยึดนั้นมันเกาะจับอยู่กับส่วน ๕ ส่วนนี้อาจยึดเอาแต่ละส่วนว่าเป็นตัวตนก็ได้ แล้วแต่ความโง่ของคน เหมือนอย่างเด็กเล็กๆ ที่เดินเซไปโดนประตู เจ็บ ต้องตีประตูเสียทีหนึ่งจึงจะหายโกรธและหายเจ็บ อย่างนี้หมายความว่ายึดเอารูปล้วนๆ คือประตูซึ่งเป็นไม่แท้ๆ ว่าเป็นตัวตน นั้นเป็นอุปาทานในขั้นต่ำที่สุด
๑๖๙
                สำหรับคนโตๆ ก็โกรธร่างกายถึงกับทุบตีร่างกายหรือโขกศีรษะตัวเอง ก็ยึดถืออย่างเดียวกันกับเด็ก คือไปยึดถึงเอาร่างกายเป็นตัวตน ถ้าหากว่าฉลาดขึ้นไปกว่านั้น ก็จะถือเอาเวทนาหรือสัญญาหรือสังขารหรือวิญญาณส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวตน ถ้าหากไม่อาจจะแยกออกได้ก็ยึดทั้งกลุ่มว่าเป็นตัวตน คือเอาทั้ง ๕ ส่วนรวมกลุ่มกันเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้
๑๗๐
                ถัดมาจากรูปก็คือ เวทนา กล่าวคือความรู้สึกว่าสุข ทุกข์หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ มีทางที่จะยึดเป็นตัวตนได้มากที่สุด เราจะมองดูตัวอย่างในเรื่องเราหลงใหล ในกามสุขโดยเฉพาะก็คือความเอร็ดอร่อย ความถูกอกถูกใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ต่างๆ ที่ได้รับอยู่ ตัวเวทนาในที่นี้ก็คือความรู้สึกเอร็ดอร่อยซึ่งเป็นความสุข แล้วก็ไปติดความสุขนั้นหรือความอร่อยนั่นเอง คนยึดถือเวทนาเป็นตัวเป็นตนกันอยู่มาก หรือว่าแทบทั้งหมดเพราะว่าไม่มีใครที่จะไม่ชอบความเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็การสัมผัสทางผิวหนัง ความไม่รู้หรือความหลงผิดทำให้มองไม่เห็นสิ่งอื่นใด มองเห็นแต่ความเอร็ดอร่อย แล้วยึดถือเป็นตัวเป็นตนและจะยึดเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตน
๑๗๑
                ความรู้สึกทางพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ย่อมจะเรียกได้ว่าเป็นที่ตั้งของความทุกข์ได้ทั้งนั้น ความรูสึกชอบกับชังนี้ ตามความหายทางธรรมะแล้วย่อมถือว่าเป็นความทุกข์เท่ากัน เพราะมันทำให้เกิดความทรมานใจเท่ากัน ความชอบทำให้ใจฟู ความไม่ชอบทำให้ใจแฟบ การดีใจและเสียใจ ก็เป็นการทำให้จิตเหน็ดเหนื่อยเท่ากัน ทำให้เกิดหวั่นไหวทางจิตได้เท่ากัน ทั้งหมดนั้นเรียกว่ายึดเวทนาเป็นตัวตน
๑๗๒
                ขอให้ทุกคนพิจารณาความยึดถือเวทนาว่าเป็นตัวตนของตนในตนเอง ให้เข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ จะเป็นหนทางทำให้เป็นอิสระจากเวทนา เวทนาเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจ แล้วดึงเราไปสู่สภาพที่จะต้องเสียใจในภายหลัง ในทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสอนให้พิจารณาเรื่องเวทนาโดยเฉพาะก็มาก มีผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์เพราะกำหนดเวลา เป็นวัตถุสำหรับการพิจารณาเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ อย่างนี้ก็มีมาก
๑๗๓
                เวทนานี้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ง่ายกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหมดเพราะมันเป็นที่มุ่งหมายสูงสุดของสิ่งที่เราพากเพียรทำกัน เราอุตสาห์ศึกษาเล่าเรียนอุตส่าห์ประกอบการงานอาชีพต่างๆ ก็เพื่อให้ได้เงินแล้วก็ไปซื้อหาสิ่งต่างๆ เช่น ของใช้ ของกิน เครื่องบำรุงบำเรอ ตลอดจนถึงรสพิเศษจากเพศตรงกันข้าม แล้วก็บริโภคของเหล่านั้นเพื่อหวังอย่างเดียวคือสุขเวทนา กล่าวคือความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น และทางกาย
๑๗๔
                เราลงทุนด้วยกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมดก็เพื่อหวังสุขเวทนาอันเดียวนี้เท่านั้น ก็รู้อยู่แก่ใจกันดีทุกคน ถ้าไม่เพราะอำนาจของสุขเวทนานี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะไม่ลงทุนเรียน ลงทุนทำการงาน ลงเรี่ยวลงแรงหาเงิน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องสุขเวทนานี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ ก็จะสามารถควบคุมมันได้ จนทำให้เรามีจิตใจสูงอยู่เหนือความรู้สึกชนิดนั้น จะให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าที่เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดา แม้ความยุ่งยากต่างๆ ในสังคม ก็มีมูลมาจากสุขเวทนานี้เหมือนกัน
๑๗๕
                การกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ หรือระหว่างครึ่งโลกกับครึ่งโลกที่จะต้องรบกัน เมื่อไล่เบี้ยไปถึงที่สุดแล้วจะไปพบความจริงที่ว่า ทุกฝ่ายตกเป็นทาสของสุขเวทนาดังที่กล่าวมาแล้ว การทำสงครามกันนั้น ไม่ใช่เพราะมีมูลมาจากความยึดถือเกี่ยวกับลัทธิ หรือเกี่ยวกับอุดมคติอะไรก็หามิได้ ที่แท้แล้วมันก็เนื่องมาจากประโยชน์สุข ต่างฝ่ายจะมุ่งแต่ให้ได้ประโยชน์มาก จะกอบโกยเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ลักทธินั้นเป็นเครื่องบังหน้าหรือเหตุประกอบรองๆ ลงไปเท่านั้นเอง ส่วนลึกที่สุดอยู่ที่การตกเป็นทาสของสุขเวทนา ฉะนั้น การรู้จักเวทนาก็หมายถึงการู้จักมูลเหตุอันสำคัญ ที่ทำให้เราตกเป็นทาสของกิเลสหรือความชั่วจนได้รับความทุกข์ในทุกระดับ
๑๗๖
                เมื่อมนุษย์เป็นอย่างไร เทวดาก็เป็นอย่างนั้น คือตกอยู่ภายใต้อำนาจสุขเวทนาอย่างเดียวกับมนุษย์และยิ่งกว่ามนุษย์เพียงแต่เขาสมมติให้เป็นเรื่องที่ดีกว่าประณีตกว่าได้อย่างอกอย่างใจกว่าเท่านั้น แต่ก็ยังไม่พ้นไปจากกเรื่องตัณหาอุปาทาน หลงติดอยู่ในรสอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ นั่นเอง
๑๗๗
                ถ้าสูงขึ้นไปถึงขั้นพรหม ก็ต้องยกความอร่อยในทางกามารมณ์ออกเสีย แต่ไม่พ้นจากความอร่อยทางจิตอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าฌานหรืออยู่ในสมาธิ เกิดความสุขใจเป็นรสอร่อยขึ้นมา ก็ติดใจในรสอร่อยนั้นเหมือนกัน แม้ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็เป็นสุขเวทนานั่นเอง
๑๗๘
                ยิ่งสัตว์ที่ต่ำลงไปกว่ามนุษย์ด้วยแล้ว มันย่อมตกอยู่ภายใต้อำนาจของสุขเวทนาอย่างไม่เป็นระเบียบ ยิ่งกว่ามนุษย์เรามากมายนัก ฉะนั้นการรู้เรื่องของเวทนาว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรู้เรื่องเวทนาว่า ไม่ใช่เป็นตัวเราของเราเลย ไม่ควรจะยึดถือ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ชีวิตของคนเราจริงๆ
๑๗๙
                ถัดไปก็คือเรื่อง สัญญา หรือที่เรียกว่า สมปฤดี นั่นเอง นี้มีทางที่จะยึดถือว่า เป็นตัวเป็นตนของเราได้ง่ายเหมือนกันอย่างที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปมักชอบพูดกันว่า ถ้านอนหลับจะมีอะไรบางอย่างออกไปจากตัวเราที่เรียกว่า เจตภูต หรือจะเรียกว่าอะไรสุดแท้ ในขณะนั้นเราก็เหมือนท่อนไม้ ไม่มีความรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้นและกาย พอสิ่งนั้นกลับสู่ร่างกายอีก จึงจะรู้สึกสมปฤดีตามเดิม มีสติสตังขึ้นมาตามเดิม คนเขาหลงเชื่อกันอย่างนั้นมาก เลยยิ่งมีทางที่จะยึดเอาสัญญาหรือสมปฤดีนี้ว่าเป็นตัวตนมากขึ้น
๑๘๐
                แต่ถ้าว่ากันตามทางพุทธศาสนาแล้ว สัญญาไม่ใช่เป็นตัวตน สัญญาเป็นเพียงความรู้สึกจำได้หมายรู้ที่ยังคงดีอยู่ พอเกิดการไม่เป็นระเบียบในการปรุงแต่งเท่านั้น สิ่งที่เราเรียกว่า สัญญา หรือสมปฤดี ก็จะกลายเป็นใช้ไม่ได้ไปทันที พุทธศาสนาไม่ยอมรับว่าสัญญาเป็นตัวตนก็เพราะเหตุนี้ แต่คนทั่วไปก็ชอบเดา หรือสันนิษฐานไปในทางที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตนการศึกษาพุทธศาสนากลับได้ความรู้ที่ตรงกันข้าม ว่านั่นไม่ใช่ตัวตนของใคร นั่นเป็นเพียงผลของการปรุงแต่งตามธรรมชาติในคนๆ หนึ่ง เท่านั้นเอง
๑๘๑
                ขันธ์ถัดไปคือ สังขาร ได้แก่ความ นึกคิด ความรู้สึก จะทำนั่น ทำนี่ จะได้นั่น ได้นี่ เป็นความคิดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม แสดงความเป็นตัวเป็นตนหนักขึ้นไปอีก ใครๆ ก็จะรู้สึกว่า ถ้าจะเป็นตัวตนกันบ้างละก็ ตัวผู้นึกคิดนี่แหละ น่าจะเป็นตัวตนมากกว่าอย่างอื่น อย่างนักปรัชญาคนหนึ่งของยุคปัจจุบัน เขามีปรัชญาของเขาง่ายๆ ว่า “ข้าพเจ้าคิดได้ ข้าพเจ้าจึงมีอยู่” แม้นักปรัชญาในสมัยวิทยาศาสตร์อย่างนี้ ก็ยังยึดถือตัวตนอย่างเดียวกับ ในสมัยเมื่อสองสามพันปีมาแล้ว โดยถือเอาตัวความคิดนั้นว่าเป็นตัวตน
๑๘๒
                พุทธศาสนาได้ปฏิเสธเวทนา และสัญญา ว่าไม่ใช่ตัวตนมาแล้ว ยังปฏิเสธความคิด หรือตัวจิตที่คิด ว่าไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน เพราะอาการที่คิดขึ้นมาได้นั้น มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นผลของการปรุงของสิ่งหลายๆ สิ่งสำเร็จรูปเป็นความคิดขึ้นมาได้ อยู่ในกลุ่มของส่วนประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นคน โดยไม่ต้องมีตัว “ข้าพเจ้า” ที่เป็นตัวตนอย่างว่า สังขารหรือความคิดนี้ จึงถูกยืนยันว่าเป็นอนัตตา กล่าวคือ ไม่มีตัวไม่มีตนอย่างเดียวกันกับขันธ์อื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
๑๘๓
                คำในพระพุทธศาสนาก็ระบุชัดอยู่แล้วว่า “สังขาร” ซึ่งแปลว่าของปรุงแต่ง คือของหลายๆ อย่างมาปรุงกันเข้าจึงยิ่งไม่ใช่ตัวตน ความลำบากเข้าใจยากอยู่ตรงที่ว่า พวกเราไม่มีความเข้าใจในเรื่องของนามธรรม หรือจิตใจอย่างเพียงพอ เรารู้จักกันแต่เรื่องรูปธาตุที่เป็นวัตถุ แต่ธาตุอีกประเภทหนึ่งที่เป็นนามธรรมไม่ใช่วัตถุ เราแทบจะไม่เข้าใจกันเสียเลย เราจึงเข้าใจยากในเรื่องของการปรุงทางนามธาตุ
๑๘๔
                ในที่นี้บอกได้แต่เพียงตามหลักพุทธศาสนาว่า เป็นการปรุงของธาตุหลายๆ ธาตุ รวมทั้งวัตถุธาตุและนามธาตุ สิ่งที่เรียกว่าความคิด หรือ “สังขาร” จึงเกิดขึ้นในใจของตัวเราเองและทำให้เข้าใจไปว่า มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้คิดเชื่อไปในทำนองว่าเป็นเจตภูต เป็นวิญญาณ เป็นตัวเจ้าของร่างหรืออะไรทำนองนี้พุทธศาสนาปฏิเสธสิ่งเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงเมื่อได้แยกออกเป็นส่วนๆ ไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็พิสูจน์แต่ละส่วนๆ ว่าไม่มีส่วนไหนเป็นตัวเป็นตน ตลอดถึงส่วนที่เป็นความคิด ก็ไม่ใช่ตัวตนอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันเลย
๑๘๕
                ถัดไปเป็นส่วนสุดท้ายเรียกว่า “วิญญาณ” ทำหน้าที่รู้แจ้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเราเหมือนกัน เพราะเหตุว่าอวัยวะนั้นๆ ล้วนมีความสามารถรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อยู่ตลอดเวลา เมื่อตากับรูปถึงกันเข้า วิญญาณก็เกิดขึ้นเป็น ๓ ฝ่ายด้วยกัน เช่น ตาก็มีความรู้แจ้งเกิดขึ้นว่ารูปนั้นมีสัณฐานอย่างไร เป็นรูปคนหรือสัตว์ สั้นหรือยาว ขาวหรือดำ อย่างนี้เป็นต้น
๑๘๖
                ความรู้แจ้งที่เกิดขึ้นทำนองนี้เหมือนกับกลไกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นไปเองตามธรรมชาติ อย่างอัตโนมัติ แต่มีคนบางพวกถือกันว่านั่นแหละเป็นเจตภูต หรือเป็นตัววิญญาณที่แล่นเข้าแล่นออกจากใจมารับความสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างนี้ก็มี แล้วยึดถือเอาเป็นตัวตน ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น ถ้ารูปและตาพร้อมทั้งประสาทตา ได้มีการกระทบกันก็จะมีการเห็นเกิดขึ้นสำเร็จเป็นการรู้แจ้งทางตาเรียก จักษุวิญญาณ ตามชื่อของประสาทอันเป็นที่ตั้งแห่งการสัมผัส โดยไม่ต้องมีตัวตนอะไรที่ไหนอีก วิญญาณในศาสนาพุทธจึงไม่เหมือนวิญญาณในศาสนาอื่นๆ
๑๘๗
                เมื่อได้แยกดูทีละส่วนๆ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เห็นมีส่วนไหนที่เป็นตัวตนของตนดังนี้แล้ว ก็จะถอนความเข้าใจผิดเรื่องตัวตนเสียได้ ว่าไม่ใช่เป็นตัวตนของใครเลย ถ้าไม่เกิดความอยาก ก็ไม่เกิดความรักหรือเกลียดในสิ่งทั้งหลาย จึงจะเรียกว่าเห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวงว่าไม่ใช่ตัวตน การนึกคิดตามเหตุผลก็พอจะทำให้เชื่อว่าไม่ใช่ตัวตนได้ แต่มันก็เป็นเพียงความเชื่อ ไม่เป็นการรู้แจ้งชนิดที่จะตัดความยึดถือว่า เป็นตัวเป็นตนได้อย่างเด็ดขาด เหตุนี้เองจึงต้องศึกษาพิจารณากันตามหลักแห่งสิกขา ๓ ประการ จึงจะถึงขนาดที่ถอนความยึดถือเรื่องนี้ได้
๑๘๘
                หน้าที่อันจะพึงปฏิบัติในเรื่องเบญจขันธ์ นี้คือต้องทำให้ความรู้แจ้งเกิดขึ้น เพื่อขจัดความโง่เสีย และก็จะเห็นเองว่า ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวเป็นตนอันน่ายึดถือ เมื่อนั้นการยึดถือก็แตกสลายลง แม้ยึดมาแต่กำเนิดก็ตาม มันต้องหมดไปด้วย ฉะนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องเบญจขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ว่าเป็นตัวตนนี้ให้ละเอียด พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้มากกว่าเรื่องทั้งหลาย มีใจความสรุปสั้นๆ ว่า “เบญจขันธ์เป็นอนัตตา” สำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะมองกันในแง่ปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ หรือในฐานะเป็นศาสนาก็ตาม ถ้าเรารู้ตามที่เป็นจริง ความยึดถือด้วยการเข้าใจผิดก็หายไป ความอยากทุกชนิดจะไม่มีทางเกิด และความทุกข์ก็จะไม่มี
๑๘๙
                ทำไม คนเราตามปกติจึงมองส่วน ๕ ส่วนนี้ไม่ออกตามที่เป็นจริง เมื่อเกิดมาจากท้องมารดา เราไม่มีปัญญาของเราเอง เราได้รับความรู้มาตามที่เขาสอนให้ เขาสอนเราไปในทางที่เข้าใจว่า ทุกสิ่งเป็นตัวตนไปทั้งนั้น อำนาจสัญชาตญาณดั้งเดิม เกี่ยวกับการยึดถือว่าเป็นตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) ซึ่งมีติดมาตั้งแต่เราเกิด ก็พอกพูนหนาแน่นยิ่งขึ้นทุกวัน ในการพูดจาก็ใช้คำว่า ฉัน ท่าน ผู้นั้น ผู้นี้ ซึ่งล้วนแต่ย้ำการมีตัวตนให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น คนนั้นชื่อนั้น คนนี้ชื่อนี้ เป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนนี้ เป็นสามีคนนั้น เป็นภรรยาคนนี้ ล้วนแต่ระบุไปในทางเป็นตัวตนทั้งนั้น เราจึงพากันไม่รู้สึกตัว ในการที่ไปยึดถือความเป็นตัวเป็นตนเพิ่มขึ้นทุกวัน
๑๙๐
                เมื่อยึดว่าเป็นตัวเป็นตน ก็เกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็ประกอบการงานไปตามความเห็นแก่ตัวหรือพวกของตัวจนได้ประโยชน์มาบำรุงความใคร่ของตัวและพวกของตัว แต่ถ้าหากว่าเราเกิดความฉลาดจนมองเห็นว่านี้เป็นของหลอกๆ เราก็จะหมดความยึดถือว่านั่นเป็น นาย ก. นาย ข. เป็นขุน หลวง พระ พระยา เป็นสัตว์ หรือมนุษย์ โดยเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องที่คนเขาสมมติขึ้นพูดกันในทางสังคมเท่านั้นเอง ถ้าเขาเข้าใจได้อย่างนี้แล้ว ก็นับว่าเป็นการเพิกถอนสิ่งที่หลอกลวงของสังคมได้ชั้นหนึ่ง
๑๙๑
                เมื่อพิจารณาดูร่างกายทั้งหมดของ นาย ก. ก็จะพบว่า นาย ก.นั้น เท่ากับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัมพันธ์กัน การเห็นอย่านี้ก็ฉลาดขึ้นมาอีกหน่อย เรียกได้ว่าไม่หลงติดในการสมมติทางโลก
๑๙๒
                จะแยกให้ละเอียดออกไปอีก ก็มีทางทำได้ เช่น รูป ร่างกาย นี้ แยกเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือไม่แยกอย่างทางวัดๆ เขาแยกกัน จะแยกอย่างวิทยาศาสตร์ เป็นคาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจน ฯลฯ ก็ได้เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า เห็นลึกเข้าไปอีก คือ มันหลอกลวงเราได้น้อยเข้าไปอีกชั้นหนึ่งกลายเป็นเห็นว่าคนไม่มี มีอยู่แต่ธาตุต่างๆ ร่างกายเป็นรูปธาตุ จึงเป็นนามธาตุ แยกออกเป็นส่วนย่อยๆ ทำหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น รู้สึกนึกคิด และรู้ทางประสาท ทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้ ความรู้สึกว่านาย ก. นาย ข. ขุน หลวง พระ พระยา ก็หายไป ความรู้สึกว่าลูกของเรา ผัวของเรา เมียของเรานี้ก็พลอยหายไป
๑๙๓
                แต่เมื่อ ดูกันในแง่ปรมัตถ์ จะปรากฏว่า แม้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุออกซิเจน ไฮโดรเจน หรืออะไรก็ตาม จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตาม ดูให้ลึกซึ้งแล้ว ก็จะพบลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันหมดคือ “ความว่าง” จากสิ่งที่เรียกว่าตัวตนของมันเอง ดิน น้ำ ลม ไฟ ดูตรงไหนๆ มันก็ไม่มีตัวตนซึ่งภาษาพุทธศาสนาเรียกว่า “สุญญตา”
๑๙๔
                ท่านผู้ใดเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่างได้ดังนี้แล้ว ความยึดถือหรืออุปาทาน ย่อมไม่มีทางที่จะเกิดได้ ที่เกิดแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเหลืออยู่ได้ มันจะสูญหายละลายไปหมด จนปราศจากความยึดติดโดยสิ้นเชิง มันจึงไม่มีสัตว์ไม่มีคน ไม่มีธาตุ ไม่มีขันธ์ ไม่มีอะไรทั้งหมด เป็น “ความว่าง” จากการมีตัวมีตนของมันเอง เมื่อไม่ยึดติด ความทุกข์ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น ใครจะเรียกเขาว่าคนดี คนชั่ว คนสุข คนทุกข์ หรืออะไรก็ตาม ไม่เป็นของแปลกสำหรับเขา ทั้งหมดนี้เป็นผลเกิดมาจากการมีความรู้ความเข้าใจ และมีความเห็นแจ้งในความจริงของเรื่องเบญจขันธ์ จนถอนความยึดติดที่ผิดๆ ทั้ง ๔ ประการนั้นเสียได้
๑๙๕
                สรุปความว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้รวมอยู่ในคำว่า “เบญจขันธ์” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละส่วนเป็นมายาไร้ตัวตน แต่ก็มีอำนาจของเวทนาล่อให้เกิดการยึดถือ จนคนทั่วไป อยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้เป็น ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์ ไม่อย่างเปิดเผยก็อย่างเร้นลับ ทุกคนจะต้องอาศัยข้อปฏิบัติที่เรียกว่าไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ถอนความหลงติดในเบญจขันธ์เสียให้สิ้นเชิง จึงจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของขันธ์ทั้งห้าและก็จะไม่มีความทุกข์ โลกจะอยู่ในลักษณะที่อำนายความผาสุขใจให้แก่ผู้นั้นไม่ต้องร้อนใจเพราะสิ่งใดๆ เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงตลอดชีวิต นี้เป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องเบญจขันธ์ตามคำสอนของพระพุทะเจ้า

๑๙๖