การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา
คราวนี้
จะอธิบายถึงวิธีทำความเห็นแจ้งให้เกิดขึ้นตามหลักวิชา ไม่อยู่ในรูปของพุทธภาษิต
เพราะเป็นสิ่งที่อาจารย์ยุคหลังๆ จัดขึ้น
เป็นวิธีเหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีอุปนิสัยอ่อน
ยังมองไม่เห็นทุกข์ภัยตามธรรมชาติด้วยตาตัวเอง อย่างไรก็ตาม นี้ก็มิได้หมายความว่า
วิธีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ชนิดนี้ จะวิเศษกว่าที่จะเป็นไปตามวิธีธรรมชาติ
เพราะเหตุว่าเมื่อตรวจดูพระไตรปิฎกโดยตรงจะเห็นว่ามีกล่าวแต่วิธีที่เป็นไปตามธรรมชาติทั้งนั้น
๒๓๙
แต่บางคนอาจเห็นไปว่า
นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เฉพาะบุคคลที่มีบุญบารมี
หรืออุปนิสัยได้สะสมมาไว้มากจนเพียงพอที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นได้เหมือนกับทำเล่นๆ
สำหรับผู้ที่ไม่มีบารมีไม่มีอุปนิสัยจะทำอย่างไร
ท่านเลยวางระเบียบปฏิบัติเร่งรัดไปตั้งแต่ต้นทีเดียว
ต้องให้ทำไปตามระเบียบตามลำดับอย่างรัดกุม
๒๔๐
ระเบียบปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดความเห็นแจ้งนี้
เพิ่งเรียกกันในยุคอรรถกถาโดยชื่อใหม่ว่า “วิปัสสนาธุระ” ให้เป็นคู่กันกับ
“คันถธุระ” ซึ่งเป็นเรื่องการเรียนตำราโดยตรง วิปัสสนาธุระเป็นการเรียนจากภายใน
คืออบรมจิตโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับตำรา คำว่า “คันถธุระ” และ “วิปัสสนาธุระ” สองคำนี้
ไม่ได้มีมาในบาลี พระไตรปิฎก จะมีปรากฏก็แต่ในหนังสือชั้นหลังๆ เช่น อรรถกถาธรรมบท
เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็อาจใช้เป็นหลักเกณฑ์ได้ว่า วิปัสสนาธุระนั้น
เป็นการงานของพุทธบริษัทที่ตั้งอกตั้งใจจะทำความดับทุกข์
ด้วยการทำความเพียรในทางเพ่งพิจารณาโดยตรง
๒๔๑
คำว่า “วิปัสสนา” นี้
มีทางฟั่นเฝือนอยู่บางสิ่งบางอย่างคือ ในบางกรณีเกิดไปแยกทำทางจิต
เป็นสองประเภทโดยเด็ดขาด คือทำเพื่อให้เกิดสมาธิประเภทหนึ่ง
ทำเพื่อให้เกิดปัญญาอีกประเภทหนึ่ง แล้วเรียกการทำสมาธินั้นว่าสมถภาวนา
และเรียกการทำทางปัญญาว่าวิปัสสนาภาวนา เลยทำให้วิปัสสนามีความหมายแคบเข้ามาเหลือแต่เพียงเรื่องปัญญา
๒๔๒
แต่โดยที่แท้แล้วคำว่า
วิปัสสนาธุระต้องกินความรวมหมดทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
คือหมายถึงทั้งสมาธิและปัญญานั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้นยังรวมเอาศีล
ซึ่งยังไม่ใช่ตัวภาวนาอะไรเลย เข้าไปอีกด้วยในฐานะเป็นบริวารหรือเป็นบาทฐานของสมาธิ
เพื่อจะให้เข้าใจการปฏิบัติวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี
อาจารย์แต่กาลก่อนนิยมตั้งหัวข้อไว้เป็นข้อๆ มาทีเดียว
หัวข้อแรกที่สุดก็ว่า
อะไรเป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา
อะไรเป็นลักษณะเครื่องสังเกตว่าเป็นตัววิปัสสนา
อะไรเป็นกิจที่เรียกว่าวิปัสสนา
และอะไรจะเป็นผลสุดท้ายของวิปัสสนา
เมื่อตั้งปัญหาว่าอะไรเป็น
ที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา ก็ตอบว่าศีลกับสมาธิเป็นที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา
เพราะวิปัสสนา หมายถึงการรู้แจ้งเห็นจริง
ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีจิตใจที่ปีติปราโมทย์
ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ข้อนี้ ศีลช่วยได้ถึงที่สุด
เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ก็มีปีติปราโมทย์ ฉะนั้นจึงต้องมีศีลก่อน
คำกล่าวนี้มีหลักที่อ้างอิงในพระบาลีโดยตรง
ในบาลีมัชฌิมนิกายก็ได้มีการกล่าวถึงความบริสุทธิ์สะดวกของการปฏิบัติเป็นชั้นๆ
ไปตามลำดับ จนครบ ๗ อย่างถึงที่สุดคือการบรรลุมรรคผล
๒๔๔
ในขั้นแห่งความบริสุทธิ์
๗ อย่างนั้น ท่านก็ยกเอาศีลเป็นข้อแรกเรียกว่า
สีลวิสุทธิ
คือความหมดจดแห่งความประพฤติ สีลวิสุทธิก็ส่งให้เกิด
จิตตวิสุทธิ
คือความหมดจดแห่งจิต ความหมดจดแห่งจิตก็ส่งให้เกิด
ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งความเห็น ความหมดจดแห่งทิฏฐิก็ส่งให้เกิด
กังขาวิตรณวิสุทธ คือ
ความหมดจดแก่งความรู้ที่จะข้ามความสงสัยเสียได้
ต่อไปความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามความสงสัย ก็ส่งให้เกิด
มัคคามัคคญาณทัสสวิสุทธิ
คือความหมดจดแห่งความเห็นแจ้งว่าอะไรเป็นหนทางอะไรไม่ใช่หนทาง ความหมดจดในความรู้ว่าอะไรเป็นทาง
อะไรไม่ใช่ทางนี้ก็ส่งให้เกิด
ปฏิปทาญาณทัสสวิสุทธิ
คือความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวการปฏิบัตินั้นๆ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธนี้ก็ส่งให้เกิด
ญาณทัสสวิสุทธ
อันเป็นขั้นสุดท้ายคืออริยมรรค ซึ่งเป็นคู่กันกับอริยผล ผลเป็นสิ่งที่เกิดจากมรรคเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้เพียงแค่
อริยมรรค ในฐานะเป็นขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ
๒๔๕
ศีล
หมายถึงการประพฤติที่ปราศจากโทษทางกายและวาจา
ถ้ายังมีความไม่ปกติทางกายทางวาจาอยู่แล้ว ยังเรียกว่าไม่มีศีล ที่ถูกต้องสมบูรณ์
ตามความหมายของศีล เมื่อมีความปกติ คือความสงบทางกายวาจา
ก็ย่อมจะเกิดความสงบในทางจิตใจ เหมาะที่จะปฏิบัติงานทางด้านจิตต่อไป
คือทิฏฐิวิสุทธ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคาคัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธินั้นเป็นตัววิปัสสนาแท้ สีลวิสุทธิกับจิตตวิสุทธิ
จัดเป็นปากทางของ วิปัสสนา
๒๔๖
วิปัสสนาตัวที่ ๑
ความหมดจดของทิฏฐิหมายถึง การหมดความเห็นผิดที่เห็นกันมาแต่เดิม
หรือตามสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ความเชื่องมงายไร้เหตุผลในเรื่องของไสยศาสตร์
ขึ้นมาถึงเรื่องความเข้าใจผิดในธรรมชาติ เช่นเห็นว่าร่างกายและจิตใจเหล่านี้เป็นของเที่ยงเป็นสุขหรือเป็นตัวตน
เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นผี เป็นอะไรๆ
ในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์ไปทั้งนั้น
ไม่สามารถจะเห็นว่ามันเป็นแต่เพียงธาตุสี่หรือเป็นเพียงนามและรูป กายกับใจ
แต่ไปเห็นเป็นตัวเป็นตน มีเจตภูตหรือวิญญาณที่เข้าๆ ออกๆ อยู่กับร่างกาย
มองไม่เห็นว่าเป็นขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่เห็นว่าเป็นเพียงการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้เป็นต้น
ความคิดผิดจึงโน้มเอียงไปในทางยึดถือความขลัง
ยึดถือความศักดิ์สิทธิ์จนทำให้เกิดความหวดกลัว เลยต้องทำพิธีรีตองต่างๆ
ตามความเชื่อความเห็นผิดเหล่านั้น นี่เราเรียกว่าความเห็นยังไม่สะอาดหมดจด
จะต้องเริ่มละความเห็นที่เหลวไหลอย่างผิดๆ ในขั้นหยาบๆ ทำนองนั้นให้หมดเสียก่อน
จึงจะเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๑ เรียกว่าทิฏฐิวิสุทธิ
๒๔๗
วิปัสสนาตัวที่ ๒
กังขาวิตรณวิสุทธิ ก็คือการพิจารณาลงไปถึงเหตุดั้งเดิม ทิฏฐิวิสุทธิทำให้เห็นคนๆ
หนึ่งเป็นเพียงกายกับใจ กังขาวิตรณวิสุทธินี้
มีหน้าที่แยกดูว่ากายกับใจแต่ละอย่างๆ นี้ มีมูลเหตุสร้างสรรค์ร่วมกันมาอย่างไร
ฉะนั้น จึงมองลึกลงไปอีกว่า ความรู้ความอยาก ความยึดติด กรรม อาหาร ฯลฯ
มันสร้างสรรค์ปรุงแต่งกันมาอย่างละเอียดประณีตจนกระทั่งเกิดสิ่งที่เรียกว่า
กายกับใจ กังขาวิตรณวิสุทธิกล่าวคือ
ความหมดจดแห่งความรู้ที่จะให้ข้ามความสงสัยเสียได้
นี้จึงหมายถึงความเห็นแจ้งในพวกเหตุพวกปัจจัยของสิ่งทั้งปวงนั่นเอง
๒๔๘
ในระเบียบของวิปัสสนานั้น
ท่านจำแนกความสงสัยเหล่านี้ออกไปราว ๒๙-๓๐ อย่าง แต่สรุปแล้วก็คือ
เป็นความสงสัยเกี่ยวกับตัวเรามีอยู่หรือไม่ ตัวเรามีแล้วหรือไม่
ตัวเราจะมีต่อไปหรือไม่ ในลักษณะอย่างไร เป็นต้น การจะข้ามความสงสัยได้นั้น
ก็ต้องอาศัยเหตุที่ได้ทราบว่ามันไม่มีตัวเรา มีแต่ธาตุขันธ์อายตนะ
พร้อมทั้งเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ฯลฯ
ซึ่งปรุงแต่งสิ่งเหล่านี้ โดยมันไม่มีตัวเราจริงๆ แล้วเริ่มเลิกความเข้าใจเขลาๆ
ว่าเรามีอยู่ เรามีมาแล้ว
เราจะมีต่อไปนั้นเสีย
๒๔๙
เมื่อความสงสัยชนิดนี้ระงับไปแล้ว
ก็เรียกว่าเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๒
แต่มิได้หมายความว่าเป็นการถอนอุปาทานว่ามีตัวเราได้โดยสิ้นเชิง
เพราะส่วนที่ละเอียดกว่านั้นยังมีอยู่อีก ความสงสัยเหล่านี้ได้ระงับไป
เพราะเรามีความรู้เรื่องการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยต่างๆ จนเพิกถอนความเชื่อว่ามี
“ตัวเรา” ชั้นหยาบๆ นี้เสียได้
๒๕๐
วิปัสสนาตัวที่ ๓ เมื่อข้ามความสงสัยเช่นนี้ได้แล้ว
ก็สามารถทำให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์
คือความรู้อันสะอาดหมดจดเห็นว่าอะไรเป็นทางที่ก้าวต่อไปอย่างถูกต้องและอะไรไม่เป็นทางที่จะก้าวต่อไปได้
อุปสรรคที่ทำให้ก้าวต่อไปไม่ได้ อันนี้ก็มีหลายอย่าง ที่มักเกิดในขณะที่ทำวิปัสสนาก็คือ
ในตอนที่จิตเป็นสมาธินั้น มักจะเกิดสิ่งต่างๆ ชนิดแปลกประหลาด และจับอกจับใจ
แก่ผู้ทำมากเหลือเกิน เช่น เห็นแสงสว่างรุ่งเรืองน่าอัศจรรย์
ปรากฏอยู่ที่ตาในโดยไม่ต้องลืมตา ถ้ายิ่งไปโน้มจิต เพื่อให้เห็นนั่นเห็นนี่เข้าด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่
๒๕๑
ถ้าใครเข้าใจผิดว่า
“นี่แล้วเป็นผลของวิปัสสนา” หรือยินดีว่า “นี่เป็นของวิเศษพอแล้วสำหรับเรา”
ดังนี้ก็ตามมันย่อมกั้นหนทางแห่งความเห็นแจ้งในมรรคผล
ท่านจึงถือว่าเป็นเรื่องผิดทางตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งเช่นเกิดปีติอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาท่วมท้นจิตใจเสียเรื่อยตลอดเวลา
จนไม่อาจพิจารณาอะไรได้อีกต่อไป หรือเกิดเข้าใจว่า
นี่แล้วเป็นนิพพานในปัจจุบันทันตาเห็นดังนี้เป็นต้น ก็ติดตันไม่ก้าวหน้าไปได้
นี่ก็เป็นอุปสรรคของวิปัสสนา ท่านยังกล่าวว่า แม้ความเห็นแจ้งในรูปในนาม
บางขณะบางครู่ก็ได้ทำความพอใจให้หลงคิดไปว่า ตนเป็นผู้เห็นธรรมอย่างวิเศษ
แล้วทะนงตัวฟุ้งซ่านอยู่ด้วยความเห็นผิดต่างๆ
ในเรื่องเหล่านั้นนี่ก็นับว่าเป็นอุปสรรคของวิปัสสนา
๒๕๒
ในบางกรณีผู้ทำสมาธิใช้อำนาจจิตตนเอง
บังคับให้ร่างกายรำงับจนแข็งทื่อ
ไม่มีสติที่จะพิจารณาธรรมะหรือจะน้อมไปเพื่อความเพียรอันสูงขึ้นไป
นี่ก็นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการที่จะก้าวหน้าต่อไป
แล้วคนก็นิยมชมชอบถือว่าเป็นคุณวิเศษเป็นมรรคผล
ผู้ที่พอใจหลงใหลแต่ในทางสมาบัตินั่งตัวแข็งทื่อไม่รู้สึกตัว
จึงไม่อาจก้าวไปในทางปัญญาได้เลย เป็นที่น่าสงสารอย่างยิ่ง
๒๕๓
ยังมีอีกซึ่งอาจเกิดขึ้นได้มากที่สุด
เช่น เกิดความรู้สึกปีติเป็นสุขใจชนิดที่ไม่เคยพบมาแต่ก่อนเลย
แล้วก็ประหลาดใจเหลือที่จะอธิบายได้ ทำคนๆ
นั้นให้เกิดความพอใจเหลือที่จะประมาณเพราะว่าในขณะนั้นใจกับกายเป็นสุขแสนที่จะสุข
ปัญหาต่างๆ หมดเกลี้ยงไปจากใจ ระลึกถึงเรื่องที่เคยรักก็ไม่รัก
ระลึกถึงเรื่องที่เคยเกลียด ระลึกนึกถึงเรื่องที่เคยกลัว
เคยหวาดเสียวเคยวิตกกังวลห่วงใยต่างๆ
ก็ไม่เกิดความรู้สึกทำนองนั้นอีก เขาจึงหลงเข้าใจผิดไปว่า บัดนี้ตนเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
เพราะจิตใจของเขามีลักษณะ หรืออาการราวกับบุคคลผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสจริงๆ
ตลอดเวลาที่เขาเป็นอย่างนั้นอยู่ ถ้าเขาเกิดความพอใจ ในความเป็นอย่างนั้นอยู่
เพียงแค่นี้แล้วก็เป็นการตัดหนทางก้าวหน้าของวิปัสสนา และไม่เท่าไรอาการ เช่น
นั้นก็ค่อยๆ เสื่อมหายไป สิ่งที่เคยกลัว ก็จะกลับกลัวอย่างเดิม สิ่งที่ตนเคยรัก
ก็จะกลับรักอย่างเดิม อะไรๆ ก็จะกลับสู่สภาพเดิม หรืออาจมากเกินไปกว่าเดิมๆ
๒๕๔
อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ
ความเชื่อที่ไม่เคยแน่นแฟ้น มาแต่ก่อน ก็จะปรากฏว่าแน่นแฟ้น เช่น
เชื่อในพระรัตนตรัยหรือในสิ่งที่ตัวนึกจะเชื่อ แม้ที่สุด เช่น
ความพอใจในธรรมะก็จะมีอาการรุนแรง ลักษณะของความเฉยต่อสิ่งทั้งปวง มีอาการชัดแจ้ง
ล้วนแต่เป็นอาการจูงจิตให้หลงผิด คิดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
๒๕๕
เป็นการยากมากที่คนแรกพบสิ่งเหล่านี้
จะเข้าใจได้ว่า มันเป็นอุปสรรค และเป็นเครื่องกีดขวางทางของวิปัสสนา
มีแต่จะกลับเห็นไปเสียว่า นี้เป็นยอดสุดของวิปัสสนาทีเดียว ต่อเมื่อใดเกิดความรู้แจ้งจริงๆ
ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกีดขวางทางของวิปัสสนา ขั้นที่จะทำการตัดกิเลสละเอียดเสียได้
เมื่อนั้นจึงจะถือได้ว่า เป็นวิปัสสนาตัวที่ ๓
คือความบริสุทธิ์หมดจดของความรู้ความเห็นที่ว่า อะไรเป็นทางถูก อะไรเป็นทางผิด
เขาจะต้องศึกษาอบรมตน ดำรงตนให้เดินไปในทางที่ถูกไว้เรื่อยๆ
ไปจนเกิดความรู้แจ้งชัด ในหนทางของวิปัสสนาที่ถูกที่แท้โดยประการทั้งปวง
๒๕๖
วิปัสสนาตัวที่ ๔
เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องทางผิดทางถูกโดยสมบูรณ์เช่นนี้แล้ว
ความรู้ในอันดับต่อไปก็จะต้องดำเนินถูกทางเป็นธรรมดา
และจะก้าวหน้าไปตามลำดับนับตั้งแต่เห็นความจริง ในสังขารทั้งปวงชัดแจ้งถึงที่สุด
จนกระทั่งวางใจเฉยในสิ่งทั้งปวง มีจิตพร้อมที่จะบรรลุถึงการรู้อริยสัจจ์
ที่เป็นคุณธรรมชั้นวิเศษสืบไป เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ซึ่งแปลว่าความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวทางแห่งการปฏิบัติ
นับเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๔ หรือนับเป็นวิสุทธิอันดับที่ ๖
๒๕๗
เนื่องจากไม่มีคำอธิบายอันละเอียด
ของญาณนี้ในพระไตรปิฎกโดยตรง อาจารย์ในชั้นหลังๆ จึงจำแนกลำดับความรู้
ในตัวทางแห่งการปฏิบัติเป็น ๙ ลำดับด้วยกันและเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ คือ
๒๕๘
๑.
เมื่อวิปัสสนาดำเนินไปถูกทาง และการเพ่งพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสังขาร
ถึงที่สุดแล้วก็เพิ่งพิจารณา ให้แน่วแน่ในภาวะความเกิดขึ้น
และความเสื่อมสลายไปของสังขาร เหล่านั้นจนแจ่มแจ้งถึงที่สุด คือมองเห็นภาวะทั้งหลาย
เต็มไปด้วยการเกิดและการดับเหมือนท้องทะเลระยิบระยับ เต็มไปด้วยการเกิดและการดับของฟองน้ำที่เกิดจากลูกคลื่นฉันใดก็ฉันนั้น
ความรู้ที่ได้ในขณะนี้เรียกว่า อุทยัพพยนุปัสสนาญาณ และว่าความรู้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความเกิดขึ้น
และความเสื่อมสลายไปหรือมักเรียกสั้นๆ ว่าอุทยัพพยญาณ การเห็นเหล่านี้เกิดจากการเพ่งพิจารณาให้เห็นชัดและนานพอ
จนกว่าความรู้นั้นจะแน่นแฟ้นเหมือนกับย้อมติดอยู่ในใจ
เพื่อให้มีกำลังแรงมากพอที่จะเบื่อหน่ายไถ่ถอนความยึดติดในสิ่งต่างๆ เสียได้
นี้เป็นวิปัสสนาญาณ อันดับที่ ๑
๒๕๙
๒.
การเพ่งพิจารณาความเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปถึงสองประการในความเดียวกันนั้น
ยังหยาบอยู่ ยังพร่ากว่าที่จะเพ่งเพียงอย่างเดียว
ในขั้นนี้ท่านจึงให้ทิ้งเสียอย่างหนึ่ง คือไม่เพ่งดูฝ่ายเกิด
เพ่งดูแต่ฝ่ายความดับเพื่อให้เห็นความสลายหรือความดับลึกซึ้งรุนแรงถึงที่สุด
จนกระทั้งรู้สึกว่า ในโลกทั้งปวงไม่มีอะไรนอกจากความพังทลาย
หรือความแตกดับทั่วไปหมดเหมือนกับห่าฝนตกลงมาทั่วไปทุกหนทุกแห่ง
จิตที่อยู่ในความรู้สึกเช่นนี้ เรียกว่าประกอบอยู่ด้วย ภังคานุปัสสนาญาณ
แปลว่าความรู้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความพังทลายหรือความดับ เรียกสั้นๆ ว่า ภังคญาณ
นี้เป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๒
๒๖๐
๓.
เมื่อความเห็นแจ้งในความแตกเสื่อมสบลาย มีมากเพียงพอแล้ว
ก็จะทำให้เกิดความรู้แจ้งต่อไปเป็นอันดับที่ ๓ ว่า ภาวะคือความมี ความเป็น
ทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวความน่ากลัวปรากฏเต็มไปในภพทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นกามภพ
รูปภพหรืออรูปภพก็ตาม ภพทั้งปวงเต็มไปด้วยภาวะที่น่ากลัว
เพราะมีความแตกทำลายของสังขารทั้งปวงอยู่ทุกขณะจิต
จึงเกิดเป็นความหวาดกลัวสะดุ้งถึงที่สุดจริงๆ ขึ้นในใจของผู้เห็นแจ้ง
และความกลัวอันถูกต้องนั้น จะประจำอยู่ในใจ เป็นความเห็นแจ้งชนิดหนึ่งว่ามีแต่ความน่ากลัวเปรียบประดุจยาพิษ
อาวุธหรือโจรอันโหดร้ายทั้งนั้น ที่บรรจุอยู่ในภพทั้ง ๓ เต็มไปหมด ไม่มีอะไรนอกไปจากนั้น
ความรู้สึกเช่นนี้ท่านเรียกว่า ภยตุปัฏฐาญาณ แปลว่าความรู้แจ้งเห็นภาวะทั้งหลายว่าเป็นไปด้วยความน่ากลัว
เรียกสั้นๆ ว่า ภยญาณ จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๓
๒๖๑
๔.
เมื่อรู้สึกว่าในภาวะทั้งปวงเต็มไปด้วยความน่ากลัวมากพอต่อไปก็จะเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาว่า
สภาพของสิ่งทั้งปวงประกอบด้วยโทษอันร้ายกาจโดยส่วนเดียว
ไม่มีความปลอดภัยในการที่จะไปหลงเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น
เปรียบเหมือนป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์แก่ผู้ต้องการความเพลิดเพลินจากป่าฉันใดก็ฉันนั้น
ความรู้สึกเห็นสภาพทั้งปวง เต็มไปด้วยโทษต่างๆ เช่นนี้เรียกว่า อาทีนวนุปัสสนาญาณ
แปลว่าความรู้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นโทษของสังขารทั้งปวง เรียกสั้นๆ ว่า อาทีนวญาณ
จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๔
๒๖๒
๕.
เมื่อพิจารณามองเห็นว่า สิ่งทั้งหลายย่อมเต็มไปด้วยโทษทุกๆ
กระเบียดนิ้วเช่นนี้แล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายในภาวะทั้งปวง
เห็นเป็นเหมือนกับบ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้เหลือแต่ดุ้นถ่าน
ดูเป็นรูปโครงของบ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้ ไม่น่าเสน่หาแต่ประการใด ความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องระคนอยู่กับสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงนี้เรียกว่า
นิพพิทานุปัสสนาญาณ แปลว่าความรู้ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เรียกสั้นๆ ว่า
นิพพิทาญาณ นับเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๕
๒๖๓
๖. เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายที่แท้จริงเช่นนี้
ก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะพ้นจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจริงๆ
ซึ่งไม่เหมือนกับความรู้สึกอยากพ้นตามธรรมดาของพวกเรา ซึ่งไม่มีกำลังของสมาธิ
หรือกำลังของความเห็นแจ้งช่วยอยู่
มันจึงไม่อยากพ้นจริงเหมือนอย่างความเห็นที่เกิดตามลำดับแห่งวิปัสสนาญาณ
เพราะความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นโดยอำนาจวิปัสสนาญาณนั้น จิตใจมันเป็นไปด้วยทั้งหมด
รู้สึกกลัวเท่าไรก็รู้สึกอยากพ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการอยากพ้นจริงๆ
ท่านอุปมาว่า มีความอยากพ้นมากขนาดเท่าๆ กับความอยากพ้นของสัตว์
เช่นเขียดซึ่งกำลังดิ้นอยู่ในปากงูมันอยากพ้นเท่าไรก็ลองคิดดูเอาเถิด
เดี๋ยวนี้คนที่มีนิพพทาญาณแล้วก็อยากพ้นจากภาวะทั้งปวงมากเท่านั้น
หรือเปรียบอย่างเนื้อหรือนกที่ติดบ่วงดิ้นเร่าๆ อยู่มันอยากพ้นจากบ่วงนั้นเท่าไร
เขาก็อยากพ้นจากสังขารทุกข์มากเท่านั้น ความรู้สึกอยากจะพ้นจริงๆ ทำนองนี้เรียกว่า
มุญจิตุกัมมยตาญาณ ซึ่งแปลว่าความรู้เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์
นับเป็นวิปัสสนาญาณ อันดับที่ ๖
๒๖๔
๗. ทีนี้
เมื่อความอยากพ้นอย่างรุนแรงมีมากพอจึงเกิดความรู้สึกดิ้นรนหาหนทางอย่างรุนแรงเช่นกัน
ท่านเรียกชื่อของความรู้สึกนี้เป็นภาษาบาลีว่า ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
แปลว่าความรู้เพื่อกำหนดพิจารณาหาทางหลุดรอด กล่าวง่ายๆ ก็คือ
การมองสอดส่องไปเรื่อยๆ ว่าเมื่อภาวะทั้งหลายเป็นอย่างนี้ทั้งเราก็อยากจะพ้นจากมัน
พิจารณาไปก็มองเห็นอุปาทาน มองเห็นกิเลสซึ่งเป็นเหตุผูกพันจิตให้ติดอยู่กับภาวะนั้นๆ
ว่ามันมีอยู่อย่างเหนียวแน่น จึงหาหนทางต่อไป
ในอันที่จะทำให้กิเลสนั้นอ่อนกำลังเสียก่อน
เมื่อเห็นความอ่อนกำลังลงของกิเลสนั้นแล้ว จึงทำลายมันเสีย
๒๖๕
ท่านอุปมาการทำกิเลสให้อ่อนกำลังนี้ไว้ว่า
เหมือนกับคนคนหนึ่งไปสุ่มหาปลา ได้งูคิดว่าเป็นปลา
ก็เอามาถือไว้ใครบอกว่างูก็ไม่เชื่อ
จนกระทั่งได้อาจารย์ซึ่งมีสติปัญญาเมตตากรุณามาก มาพร่ำชี้แจงจนรู้ว่ามันเป็นงูไม่ใช่ปลา
จึงเกิดกลัวขึ้นมา อยากจะพ้นจากงูด้วยการหาวิธีฆ่างูนั่นเสีย
เขาได้จับคองูชูขึ้นเหนือศีรษะ แล้วแกว่งเป็นวงกลมจนกระทั่งงูเพลีย
แล้วปล่อยให้งูกระเด็นไปตกนอนตาย ถ้าไม่ตายก็ตามไปฆ่าเสียให้ตาย
อุปมานี้ท่านหมายถึงความเห็นแจ้ง ว่าสิ่งที่ผูกพันคนให้ติดอยู่กับภาวะต่างๆ
อย่างน่ากลัวน่าสังเวชที่สุดนั้น คือกิเลส ถ้าไม่มีอุบายทำให้กิเลสถอยกำลังลงทุกๆ
วันแล้ว การฆ่ากิเลสย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะกิเลสมีกำลังมากเหลือเกิน
เหลือกำลังของปัญญาที่ยังน้อยจะไปฆ่ามันได้
จึงต้องบ่มปัญญาให้เกิดมากขึ้นและพร้อมกันนั้นก็ทรมานกิเลสให้มันถอยกำลังลง
๒๖๖
การพิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นอยู่เสมอและยิ่งขึ้นๆ
นั่นแหละเป็นกาตัดอาหารของกิเลส ทำให้กิเลสถอยกำลังอยู่เป็นประจำวันเสมอไป
และเราจะต้องทำเพิ่มให้มากขึ้นให้แยบคายยิ่งขึ้นๆ ไปอีก นี่เป็นช่องทางที่เราจะเอาชนะกิเลสซึ่งใหญ่เท่าภูเขา
ด้วยตัวเราเล็กนิดเดียวนี้ได้ ท่านเปรียบว่าต้องมีความกล้าให้มากพอ
เท่ากับว่าตัวเราเป็นหนูตัวนิดเดียวก็กลัวฆ่าเสือโคร่ง ๒-๓ ตัว เป็นต้น
เราต้องมีความตั้งใจจริง สอดส่องหาหนทางตามประสาหนูตัวเล็กๆ ถ้าสู้ซึ่งหน้าไม่ได้ ก็ต้องใช้อุบายวิธีต่างๆ
ทำให้มันอ่อนกำลังลงทุกๆ วันแล้วก็ไม่ลดละติดตามฆ่าอยู่เสมอๆ
อุบายอย่างนี้ท่านเรียกว่าปฏิสังขานุปัสสนาญาณ จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๗
๒๖๘
๘.
การทำให้กิเลสอ่อนกำลังลงนั้น
เป็นเหตุทำให้เราวางเฉยในสิ่งทั้งปวงได้ยิ่งขึ้นทุกที ฉะนั้น
โอกาสต่อไปนี้จึงเป็นลำดับแห่ง สังขารุเปกขาญาณ
ซึ่งแปลว่าความรู้อันเป็นเหตุให้วางเฉยในสังขารทั้งปวง
ญาณนี้อาศัยการพิจารณาเห็นความว่างแห่งสังขารทั้งหลายว่า ว่างจากแก่นสาร
ว่างจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ว่างจากสาระคือความเที่ยงแท้ถาวร
ว่างจากความสุขเพราะเต็มไปด้วยทุกข์ ว่างจากความงดงามเพราะดูแล้วล้วนแต่น่าระอา
ดังนี้เป็นต้น ในที่สุดก็เกิดความวางเฉยในสิ่งทั้งปวงในทุกๆ ภาวะ
เห็นสิ่งที่เคยรักใคร่หลงใหลเป็นก้อนอิฐก้อนดินไป
๒๖๘
ท่านเปรียบความข้อนี้ว่า
เหมือนกับคนที่เคยรักกันมาแต่ก่อนบัดนี้ปรากฏว่าเป็นกบฎก็หมดรัก เช่นในกรณีที่เมียมีชู้เลยหมดรัก
ครั้นหย่าขาดจากกันแล้วเขาจะไปทำอะไรต่อไปก็ได้ ใจเราเฉยได้ ภาวะต่างๆ
ที่แต่ก่อนนี้เคยเป็นที่เอร็ดอร่อยนานาประการของตน เมื่อจิตสูงขึ้นมาถึงญาณอับดับที่
๘ นี้แล้ว ก็ทราบว่ามันว่างจากสาระใดๆ จึงวางเฉยในภาวะทั้งปวงเสียได้
เหมือนบุรุษที่วางเฉยกับภรรยามี่หย่าขาดกันแล้วเป็นต้น สังขารุเปกขาญาณนี้
จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๘ เรียกสั้นๆ ว่า อุเบกขาญาณ
๒๖๙
๙.
เมื่อวางเฉยในภาวะทั้งปวงได้อย่างนี้ ใจก็พร้อมที่จะรู้อริยสัจจ์ ๔
ชนิดที่จะทำให้บรรลุถึงทางที่นำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
จิตที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ท่านเรียกว่า สุจจานุโลมิกญาณ แปลว่า
ความเห็นที่พร้อมที่สุดที่จะรู้อริยสัจจ์ชนิดที่เป็นขั้นทำลายกิเลสเครื่องผูกพันคนให้ติดโลกให้หมดไปได้
เป็นพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่ง นับเป็นวิปัสสนาญาณอับดับที่ ๙ เรียกสั้นๆ
ว่าอนุโลมิกญาณ
๒๗๐
วิปัสสนา ๙
ลำดับนับตั้งแต่อุทยัพพยนุปัสสนาญาณ ไปจนถึงสัจจานุดลมิกญาณเป็นที่สุดนี้
เมื่อเป็นไปอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้วเรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
เป็นวิปัสสนาญาณตัวที่ ๔ หรือนับเป็นวิสุทธิอันดับ ๖ กล่าวคือ
ความบริสุทธิ์สะอาดหมดจดแห่งปัญญา
ซึ่งเป็นเครื่องมือทำให้เห็นทางดำเนินไปของการพิจารณาจนเกิดปัญญาที่รู้แจ้งและตัดกิเลสได้
๒๗๑
วิปัสสนาตัวที่ ๕
ต่อจากนั้น ก็ถึงวิสุทธิอันดับ ๗ ที่เรียกว่าญาณทัสสนวิสุทธิ
คือความหมดจดแห่งความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งได้แก่อริยมรรคญาณนั่นเอง
นี้เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาหรือผลของวิปัสสนา ได้แก่ อริยมรรคญาณทั้ง๔
นับเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๕
๒๗๒
ในลำดับระหว่างสัจจานุโลมิกญาณ
กับ ญาณทัสสนวิสุทธินี้ มีโคตรภูญาณแทรกอยู่ ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายคั่นระหว่าง
คนธรรมดาที่มีกิเลส กับพระอริยบุคคล แต่โดยที่โคตรภูญาณมีขณะแวบเดียวแล้วก็ดับไป
จึงควรสงเคราะห์เข้าไว้เสียในฝ่ายปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
เพราะยังอยู่ในฐานที่เป็นฝ่ายบุญกุศล
ซึ่งยังข้องแวะอยู่กับราคะหรือเรื่องน่ายึดถือ
๒๗๓
โดยสรุป เราจะเห็นได้ว่าหลักแห่งการศึกษาวิปัสสนานั้น
มีรากฐานที่ตั้ง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พิจาณาอะไร ขอตอบว่าพิจารณาสิ่งทั้งปวง
จะเรียกว่าโลกหรือภาวะหรือสังขารหรือขันธ์ห้าก็ได้
เพราะว่าในภาวะทั้งหลายก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าขันธ์ห้า พิจาณาให้เห็นอะไร
ตอบว่าให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีเต็มไปในภาวะทั้งหลายในโลก
เช่นเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ จนเห็นว่าเต็มไปด้วยความน่ากลัว
น่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น อาการเหล่านี้
คือลักษณะที่จะต้องปรากฏในวิปัสสนา
๒๗๔
อะไรเป็นกิจของวิปัสสนา
กิจโดยตรงของวิปัสสนาก็คือการกำจัดความโง่ เพราะวิปัสสนาแปลว่า ความเห็นแจ้ง
ผลของวิปัสสนาคืออะไร
ผลก็คือเกิดความเห็นแจ่มแจ้งเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งทั้งปวง
กำจัดกิเลสให้สูญสิ้นไปเห็นความสะอาดสว่างสงบ
ไม่มีอะไรผูกพันจิตนี้ให้ติดอยู่กับภาวะทั้งหลายในโลกจึงเกิดลักษณะที่เรียกว่าหลุดพ้นออกจากโลก
อันเป็นที่อยู่ของหมู่คนผู้ติดกาม จิตไม่มีความทุกข์เพราะไม่มีตัณหา หรือความอยากแต่ประการใดอีกต่อไป
ท่านเรียกอาการเช่นนี้ว่า ถึงที่สุดแห่งกิจที่จะต้องกระทำในพระพุทธศาสนา
ได้ด้วยการกระทำอย่างนี้
๒๗๕
ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า
แนวแห่งปัญญาของเราจะเดินไปอย่างนี้ คือมีลำดับแห่งความบริสุทธิ์สะอาด ๗ ลำดับ
ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กันอย่างนี้
และลักษณะการดำเนินของปัญญาที่จะเจาะแทงโลกทั้งหลายอีก ๙ ลำดับ
รวมเรียกว่าเรื่องวิปัสสนา ท่านจัดไว้ในลักษณะเป็นระเบียบหรือหลักวิชา
๒๗๖
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ
นั้น อาจหาได้จากหนังสือของครูบาอาจารย์สืบไป แต่โดยแนวใหญ่ แล้ว
ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ สำหรับป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิด
ในการปฏิบัติธรรมอันเป็นชั้นยอดที่สูงสุดของพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าในขณะนี้
ยังมีคนที่หลงผิดอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่ใช่วิปัสสนามาเป็นวิปัสสนา
เลยทำให้เกิดเป็นวิปัสสนาการค้าหาเงิน
วิปัสสนาชวนเชื่อเพื่อให้ได้พรรคพวกแล้วแต่งตั้งให้เป็นพระอริยเจ้าแบบใหม่ๆ
อันอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง
๒๗๗