วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คู่มือมนุษย์ (๔)

อำนาจของความยึดติด
( อุปาทาน )

                เราจะปลีกตัวถอนตัวออกมาเสียจากสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างไร คำตาอบก็คือ จะต้องศึกษาว่า อะไรเป็นเหตุให้เราอยาก จนเข้าไปยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อรู้ต้นเหตุ เราอาจจะตัดความยึดติดเสียได้ กิเลสซึ่งเป็นความยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั้น ในพุทธศาสนาเรียก “อุปาทาน” แปลว่า ความยึดติด จำแนกเป็น ๔ ประการด้วยกัน
๑๐๘
                ๑. กามุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นกามหรือของรักใคร่ทั่วไป) เห็นได้จากการที่คนเราตามธรรมดามีความติดพันในสิ่งที่น่ารักที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส สัญชาตญาณของคนเราย่อมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอร็ดอร่อยในกามคุณ ๕ อย่างนี้ ตามหลักธรรมในพุทธศาสนาขยายออกไปเป็น ๖ คือ มี”ธรรมารมณ์” เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งหมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นในใจ จะเป็นอดีตปัจจุบันหรืออนาคตก็ได้เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้ เป็นเพียงคิดฝันไปก็ได้แต่ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางจิตใจในขณะที่รู้สึก
๑๐๙
                พอคนเราเกิดมา ได้รู้รสของกามารมณ์ทั้ง ๖ นี้ก็ยึดติดในอารมณ์นั้น และยึดยิ่งขึ้นเป็นลำดับๆ อย่างแน่นแฟ้น เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะสอนได้ ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้องและประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น มิฉะนั้นความยึดติดนี่แหละจะนำไปสู่ความวินาศฉิบหาย ขอให้เราพิจารณาดูความวินาศฉิบหายของคนทั่วไป ตามปกติจะเห็นได้ว่า มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่น่ารักอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว ทุกอย่างที่มนุษย์ปุถุชนทำกันอยู่ไม่ว่าอะไร ล้วนแต่มีมูลค่าจากกามารมณ์ทั้งนั้น คนเราจะรักกัน โกรธกัน เกลียดกัน อิจฉาริษยาฆ่าฟันกัน หรือฆ่าตัวเองตายก็ตาม ก็จะต้องมีมูลมาจากกามารมณ์
๑๑๐
                การที่มนุษย์ต้องทำงาน ขวนขวายหรือทำอะไรก็ตามเราอาจจะสืบสาวราวเรื่องไป แล้วจะพบว่า เขามีความอยากใคร่จะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เขาอุตส่าห์เล่าเรียนประกอบอาชีพก็เพื่อให้ได้ผลมาจากอาชีพ แล้วก็ไปแสวงหาความสบายใจในทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมาบำรุงบำเรอตน แม้แต่เรื่องทำบุญ อธิษฐานได้ให้ไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากความหวังในทางกามารมณ์ทั้งนั้น รวมความแล้วความยุ่งยากปั่นป่วนของโลกทั้งสิ้น มีมูลมาจากกามารมณ์นั่นเอง
๑๑๑
                กามารมณ์อำนาจร้ายกาจถึงเพียงนี้ ก็เพราะอำนาจของกามุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนี่ยวแน่นในกามตัวนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้เป็นอุปาทานขั้นต้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับโลกโดยตรง โลกจะวินาศฉิบหายหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีมูลมาจากกามุปาทานโดยเฉพาะ เราควรจะพิจารณาตัวเราเองว่า เรามีความติดในกามอย่างไร เหนียวแน่นเพียงไร จะเหลือวิสัยที่เราจะละได้จริงๆ หรือไม่
๑๑๒
                ถ้าว่ากันทางคดีโลกแล้ว การติดกามกลับมาเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะจำทำให้รักครอบครัว ทั้งยังทำให้ขยันขันแข็งในการแสวงหาทรัพย์และชื่อเสียง ฯลฯ แต่ถ้ามองกันในแง่ของธรรมะ จะรู้สึกว่า เป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเร้นลับ เพราะฉะนั้นในทางธรรมะ ความติดกามจึงเป็นสิ่งที่ต้องละกันให้หมดสิ้นในที่สุด จึงจะดับความทุกข์ทั้งปวงได้
๑๑๓
                ๒. ทิฏฐิปาทาน (ยึดติดในทิฏฐิหรือความคิดเห็นที่ตนมีอยู่เดิมๆ) เป็นสิ่งที่พอมองเห็นและเข้าใจได้ไม่ยาก พอเราเกิดมาในโลก เราก็ได้รับการศึกษาอบรมให้เกิดมีความคิดเห็น ชนิดที่มีไว้สำหรับยึดมั่น ไม่ยอมใครง่ายๆ นี้เรียกว่าทิฏฐิ ลักษณะที่ยึดติดในความคิดความเห็นของตนนี้เป็นไปตามธรรมชาติเขาไม่ติเตียนกันนัก และเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เป็นโทษภัยที่ร้ายกาจไม่น้อยไปกว่าความยึดติดในของรักของใคร่ ถ้ายึดติดในความเห็นเดิมๆ ของตัวเองย่างดื้อดึงแล้ว ก็อาจถึงกับจะต้องปรับปรุงทิฏฐิของเราให้ถูก ให้ดีให้สูงยิ่งขึ้น คือ จากความเห็นผิด ให้กลายมาเป็นความเห็นที่ถูกต้องและถูกต้องยิ่งขึ้นๆ ไปจนถึงที่สุด ชนิดที่รู้อริยสัจจ์ดังที่ได้บรรยายมาแล้ว
๑๑๔
                ทิฏฐิที่เป็นความดื้อถือรั้นนั้น มีมูลมาจากหลายทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว มักจะเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีหรือลัทธิศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ทิฏฐิดื้อรั้นเป็นของส่วนตัวเองล้วนๆ นั้นยังไม่เท่าไร เพราะไม่มากมายเหมือนที่มาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ที่คนเคยถือกันมาที่ค่อยๆ อบรมสะสมกันมากขึ้นๆ
๑๑๕
                ทิฏฐิต่างๆ นี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ (อวิชชา) เมื่อไม่รู้ก็มีความเข้าใจเอาเองตามความโง่เดิมๆ ของตน เช่นเห็นว่าสิ่งนี้น่ารักน่ายึดถือ สิ่งนี้เที่ยงแท้ถาวร เป็นความสุขเป็นตัวตน แทนที่จะเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพมายาที่ลวงตา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เป็นต้น อะไรๆ ที่ตนเข้าใจมาแล้วละก็ต้องไม่ยอมรับว่าผิด ทั้งที่บางทีตังเองก็เหมือนอยู่ว่าผิด แต่ก็ไม่ยอม
๑๑๖
                ความเป็นผู้ดื้อดึงซึ่งหน้าอย่างนี้ นับว่าเป็นอุปสรรคหรือศัตรูของคนเราอย่างยิ่ง มันทำให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือไม่สามารถเปลี่ยนความเห็นผิดในลัทธิศาสนาหรือความเชื่ออื่นๆ ที่เคยหลงเชื่อมาแล้วแต่เดิมได้
๑๑๗
                ปัญหานี้ย่อมจะเกิดแก่บุคคลผู้ถือลัทธิศาสนาที่ยังต่ำๆ อยู่ ทั้งๆ ที่ตนเห็นว่าต่ำหรือผิด ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเขามักถือเสียว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยถือกันมา หรือถ้าไม่มีเหตุผลอะไร สำหรับจะแก้ตัวขึ้นมาจริงๆ ก็ว่าเป็นสิ่งที่เคยถือกันมานมนานแล้ว เป็นต้น เพราะเหตุนี้เอง พุทธศาสนาจึงถือว่าทิฏฐินั้น เป็นกิเลสตัวร้ายกาจ เป็นสิ่งที่ทำอันตรายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามทำให้หมดไปอย่างยิ่งมิฉะนั้น ตนก็จะไม่ได้อะไรที่ดีขึ้นเลย
๑๑๘
                ๓. สีลัพพตุปาทาน (ยึดติดในวัตรปฏิบัติที่มุ่งหมายผิดทาง) หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในการประพฤติกระทำที่ทำปรัมปรา สืบกันมาอย่างงมงายไร้เหตุผลหรือที่คนนิยมเรียกกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ คิดกันว่าเป็นสิ่งที่เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
๑๑๙
                คนไทยเราทั่วไป ก็มีสิ่งนี้กันไม่น้อยกว่าชนชาติอื่นมีการถือเครื่องรางของขลังหรือเคล็ดลับต่างๆ เช่น ตื่นนอนขึ้นมา จะต้องเสกน้ำล้างหน้า จะถ่ายอุจจาระก็ต้องผินหน้าไปทิศนั้นทิศนี้ จะบริโภคอาหารหรือจะนอน ก็ต้องมีเคล็ดมีพิธี เชื่อผีสางเทวดา ต้นไม่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น เป็นการปฏิบัติที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผล คงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นตามตำราบ้าง เคยทำมาแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง
๑๒๐
                แม้ที่อ้างตนว่าเป็นพุทธบริษัท อุบาสกอุบาสิกา ก็ยังยึดมั่นถือมั่นกันไว้คนละอย่างสองอย่าง หรือ แม้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีการยึดถือในทำนองนี้ด้วยอุปาทาน ยิ่งเป็นลัทธิศาสนาที่ถือพระเป็นเจ้าถือเทวดา ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้ว จะมีการถือชนิดนั้นมากทีเดียว ซึ่งสำหรับชาวพุทธเราไม่น่าจะมีอย่างนั้นเลย
๑๒๑
                ข้อนี้เป็นเพราะเมื่อประพฤติธรรมข้อใดข้อหนึ่งแล้วไม่ทราบ ความมุ่งหมายเดิม ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่เหมาสันนิษฐานเอา เชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือประพฤติธรรมแต่เพียงตามแบบฉบับตามประเพณี ตามตัวอย่างที่ทำปรัมปราสืบกันมาเท่านั้น ไม่ทราบเหตุผลของสิ่งนั้นๆ เพราะประพฤติมาจนชิน เกิดการยึดถือเหนี่ยวแน่น ชนิดที่แก้ไขยาก อันนี้เรียกว่าความยึดติดในการปฏิบัติ ที่เคยกระทำสืบกันมาอย่างผิดๆ หรืออย่างงมงายไร้เหตุผล
๑๒๒
                แม้วิปัสสนากรรมฐาน หรือสมถกรรมฐาน อย่างที่กำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในเวลานี้ก็ตาม ถ้าทำไปด้วยความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้ความมุ่งหมายอันแท้จริง ก็จะต้องเป็นไปด้วยอำนาจ ของความยึดถือโดยมุ่งหมายผิดเป็นความโง่เขลาชนิดหนึ่ง โดยไม่ต้องสงสัย
๑๒๓
                แม้ที่สุดจะรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ หรือศีลเท่าใดก็ตาม ถ้ารักษาโดยคิดว่าจะเป็นผู้ขลัง เป็นผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ จะมีอำนาจฤทธิ์เดชอะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลายเป็นกิจวัตรที่มุ่งผิดทาง ทำไปโดยอำนาจสีลัพพตุปาทานนี้ทั้งนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการประพฤติแปลกๆ ของพวกภายนอกพุทธศาสนาก็ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากๆ
๑๒๔
                การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องให้ถูกไปตั้งแต่เริ่มมีความคิด ความเห็นความพอใจ ในผลของการทำลายกิเลสไปตั้งแต่ต้นทีเดียว การประพฤติปฏิบัตินั้น จึงจะไม่เป็นความงมงายที่นอกลู่นอกทาง ไร้เหตุผล และเสียเวลาปฏิบัติ
๑๒๕
                ๔. อัตตวาทุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นตัวเป็นตน) ความยึดมั่น ว่าตัว ว่าตนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่ง สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดย่อมจะรู้สึกว่า มันเป็นตัวตนของมันอยู่ดังนี้เสมอไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณขั้นต้นที่สุดของสิ่งที่มีชีวิต และเป็นมูลฐานของสัญชาตญาณอื่น เช่น สัญชาตญาณหาอาหารกิน สัญชาตญาณต่อสู้อันตราย หลบหนีอันตราย สัญชาตญาณสืบพันธุ์และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่อาศัยสัญชาตญาณแห่งความรู้สึกยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งนั้น มันต้องยึดมั่นว่า มีตัวเราเสียก่อนมันจึงไม่อยากตาย มันจึงอยากหาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย อยากต่อสู้เอาตัวรอด หรืออยากจะสืบพันธุ์ของมันไว้
๑๒๖
                ความยึดถือว่ามีตัวตนนี้ มีประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะมีชีวิตรอดมาไม่ได้ แต่อันนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในการแสวงหาอาหาร ในการต่อสู้ ในการสืบพันธุ์ หรือในการทำอะไรทุกๆ อย่างฉะนั้นจึงกล่าวว่า มันเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวงด้วย
๑๒๗
                ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นใจความ โดยสรุปสั้นที่สุดว่า “สิ่งต่างๆ ที่คนมีอุปานทานเข้าไปยึดถืออยู่นั้นแหละเป็นตัวความทุกข์ หรือเป็นมูลเหตุแห่งคามทุกข์” หรือ “ร่างกายและจิตใจที่คนเข้าไปยึดถือด้วยอุปาทานอยู่นั่นแหละ เป็นความทุกข์
๑๒๘
                อุปาทานข้อนี้เป็นต้นกำเนิดของชีวิต และเป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ต่างๆ คำที่ว่า “ชีวิตคือความทุกข์-ความทุกข์คือชีวิต” ท่านก็หมายถึงข้อนี้เอง การที่เรารู้จักมูลกำเนิดของชีวิต และของความทุกข์ น่าจะถือว่าเป็นการรู้ในสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุดและความรู้ถึงที่สุด เพราะว่าเป็นทางที่ทำให้เราสามารถกำจัดความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้อยากจะอวดด้วยว่า เป็นวิชาความรู้เฉพาะของพุทธศาสนาเท่านั้นไม่อาจพบได้ในศาสนาอื่นที่มีอยู่ในโลกนี้เลย
๑๒๙
                เกี่ยวกับอุปาทาน วิธีปฏิบัติให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น จะต้องอาศัยการรู้จักตัวความยึดติดโดยเฉพาะอัตตวาทุปาทานให้มากเป็นพิเศษ เพราะว่ามันเป็นมูลฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่มีขึ้นเอง เป็นเอง ประจำอยู่เสร็จแล้วในตัว ไม่ต้องมีใครมาสอนอะไรกันอีก
๑๓๐
                เด็กๆ หรือลูกสัตว์ตัวเล็กๆ พอเกิดมาจากท้องแม่ ก็มีสัญชาตญาณอันนี้มาด้วยเสร็จ เราจะเห็นได้ว่าลูกสัตว์ตัวเล็กๆ เช่นลูกแมวรู้จักขู่ฟู่ๆ ในเมื่อเราเข้าไปใกล้มันนั่นก็เพราะ มันมีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนประจำอยู่ในใจ ฉะนั้นจึงช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้มีอุปาทานในข้อนี้ ที่มันแสดงอิทธิพลออกมา ทางที่ทำได้อย่างเดียวก็คือ ควบคุมมันไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกว่าจะเจริญด้วยวิชาความรู้ในทางธรรมะ อย่างที่เรียกได้ว่า ตัดให้ขาดลงไปด้วยวิธีที่พุทธศาสนาสอนไว้ จะเอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้
๑๓๑
                ถ้ายังเป็นคนธรรมดา คือเป็นปุถุชนอยู่แล้ว ย่อมไม่มีทางที่เอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้เลย มีแต่พระอริยเจ้าอันดับสุดท้าย คือ พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้ เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย เพราะเป็นปัญหาสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ทั้งสิ้น ถ้าเราต้องการจะเป็นพุทธบริษัทเต็มตัว กล่าวคือเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาโดยครบถ้วน ก็จำต้องศึกษาเรื่องนี้ และเอาชนะความเข้าใจผิดในข้อนี้ ให้ได้มากที่สุด เราจึงจะมีความทุกข์ลดน้อยลงตามลำดับๆ
๑๓๒
                การที่รู้ความจริง ของสิ่งที่เกี่ยวข้อกับเราเป็นประจำวันนับว่าเป็นมหากุศลหรือความฉลาดที่สุดอย่างหนึ่งจึงใครขอรบเร้าท่านทั้งหลาย ให้สนใจในเรื่องอุปาทานทั้งสี่อันเป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่า ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่น่ายึดถือ ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เราทั้งหลายก็ยังตกเป็นบ่าวเป็นทาสของมันอย่างเหนียวแน่น เพราะอำนาจของอุปาทานทั้งสี่นี้เองฉะนั้น เราจะต้องศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เป็นอันตรายเป็นพิษร้ายนี้ให้มากที่สุด สิ่งนี้มิได้แสดงตัวเป็นพิษเป็นอันตรายอย่างการลุกโพลงๆ ของไฟ หรือรู้จักได้ง่ายๆ อย่างอาวุธหรือยาพิษ แต่มันเร้นลับแนบเนียนอยู่ในลักษณะ เป็นของหวานเอร็ดอร่อยหอมหวานยวนใจเป็นของสวยงาม เป็นของไพเราะทั้งนั้น
๑๓๓
                เมื่อมันมาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่เราจะรู้สึกตัวหรือควบคุมมันได้ จึงต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้ของพระพุทธเจ้า และจะต้องศึกษาปฏิบัติ ควบคุมความยึดมั่นที่ผิดๆ เหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจขอปัญญา เราก็สามารถดำรงชีวิตนี้ไม่ให้มีความทุกข์ทรมาน หรือทุกข์แต่น้อยที่สุดจนสามารถปฏิบัติหน้าที่การงานหรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ในลักษณะที่เยือกเย็น มีความสะอาด สว่าง สงบเย็นอยู่ได้
๑๓๔
                ขอสรุปความว่า อุปาทานทั้งสี่นี้ เป็นปัญหาอันเดียวที่พุทธบริษัท หรือผู้ประสงค์จะรู้จักตัวพุทธศาสนา จะต้องเข้าใจให้ได้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการรักษาพรหมจรรย์ในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อทำจิตให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิดๆ นี้ ท่านทั้งหลายจะได้พบคำกล่าวเช่นนี้ ในท้ายบาลีทุกๆ สูตร ที่กล่าวถึงการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ ซึ่งในที่นั้นจะมีคำว่า “จิตหลุดพ้นจากอุปาทาน” แล้วก็จบกัน เพราะว่า เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะผูกพันคล้องจิตนั้น ให้ตกเป็นทาสของโลกหรือเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เรื่องจึงจบสิ้นกันหรือกลายเป็น โลกุตตระ คือพ้นโลก เพราะเหตุนั้น การหลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิดๆ จึงเป็นใจความสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา
๑๓๕