มีเรื่องเล่าว่า
ชาวนาคนหนึ่งจูงโคไปเลี้ยงที่ทุ่งนาแล้วปล่อยโคกินหญ้าตามลำพัง
ตัวเองหลบใต้ร่มไม้แล้วเผลอหลับไป ชายคนหนึ่งผ่านมาเห็นโคจึงจูงโคหนีไป
ชาวนาตื่นขึ้นมาไม่เห็นโค จึงออกตามหาไม่นานก็พบชายผู้นั้น
กำลังจูงโคของตนไปจึงเข้าพูดว่า “นี่เป็นโคของตน”
ชายผู้นั้นไม่ยอมอ้างว่าเป็นโคของตนเหมือนกัน ต่างยื้อแย่ง ทุ่มเถียงกัน
เมื่อพิสูจน์ไม่ได้จึงพากันไปหาบัณฑิตผู้หนึ่งให้ช่วยตัดสิน
บัณฑิตสอบถามความเป็นมาของเรื่องแล้ว พูดว่า
“ท่านทั้งสองจะยินยอมปฏิบัติตามคำของข้าพเจ้าหรือไม่” เมื่อทั้งสองรับปากเรียกเข้ามาถามทีละคนครั้งแรก
เรียกเจ้าของโคตัวจริง มาถามก่อนว่า “เลี้ยงโคด้วยอะไร” เจ้าของโคตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนจน
จึงไม่มีอะไรให้โคกินนอกจากหญ้าเท่านั้น”
บัณฑิตเรียกชายที่ลักโคเข้ามาถามแบบเดียวกัน ชายผู้นั้นตอบว่า “ให้กินแต่ของดี
เช่น กินงากับแป้ง นมสด และหญ้า” เมื่อได้ความเช่นนั้นแล้ว
บัณฑิตจึงให้ปรุงยาสำรอกขึ้นขนานหนึ่ง แล้วกรอกเข้าไปในปากโค โค สำรอกหญ้าออกมา
บัณฑิตผู้ตัดสินจึงชี้ให้ทุกคนที่ มาฟังคำตัดสินดูว่า เป็นอะไร ทุกคนตอบว่า
โคสำรอกแต่หญ้า ทั้งนั้น บัณฑิตหันไปถามชายผู้ลักโคว่าจะยินยอมรับผิดหรือไม่
ชายผู้นั้นจำนนต่อหลักฐาน ต้องคืนโคให้เจ้าของและ ยอมรับโทษตามกระบิลเมือง
แนวคิดทางธรรมที่ได้จากเรื่องนี้มี
๒ ข้อ กล่าวคือ
ข้อแรก
พระพุทธศาสนาสอนว่า ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์รู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น
การจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ด้วยหลักฐาน
ผู้พิสูจน์จะต้องมีปัญญาและใช้วิธีการที่ฉลาด
ข้อสอง
คนทำผิดนั้น อย่าชะล่าใจว่า จะไม่มีใครพิสูจน์ความผิดได้
เพราะคนที่ฉลาดกว่าเรายังมีอยู่ แต่แม้จะไม่มีใครพิสูจน์ได้
อย่างน้อยก็ยังมีคนรู้ความจริง คนหนึ่งก็คือ
“ตัวเรา” นั่นเอง
.......................................