วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทำใจ


                ในพระคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท มีเรื่องเล่าว่า นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดีแห่งเมืองไพศาลี มีลูกชายแฝด ๑๖ คู่ ๓๒ คน คราวหนึ่ง สามีและลูกทั้งหลายถูกทางการส่งออกไปปราบโจรที่ชายแดน ระหว่างนั้น นางมัลลิกาได้นิมนต์พระมาฉันที่บ้าน ขณะเลี้ยงพระอยู่นั้นได้รับแจ้งข่าวว่าสามีและลูกเสียชีวิตทั้งหมด ถึงข่าวจะร้ายแรงขนาดนั้น นางก็สามารถทำใจให้เป็นปกติเลี้ยงอาหารพระสงฆ์ ต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในระหว่างนั้น คนใช้คนหนึ่งทำชามแตก พระสารีบุตรซึ่งได้รับอาราธนาไปฉันภัตตาหารด้วย จึงกล่าวเป็นธรรมะเตือนใจว่า “วัตถุที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดาได้แตกไปแล้ว” นางจึงตอบว่า “พระคุณเจ้า อย่าว่าแต่เพียงชามแตกเลยแม้สามีและลูกตายหมด โยมยังทำใจได้เลย” ในสภาพการณ์ปัจจุบัน มีคนเป็นจำนวนมากที่มักจะพูดว่า “การทำใจ เป็นเรื่องพูดง่าย แต่ทำยาก เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราประสบกับสิ่งเลวร้ายในชีวิเข้าแล้ว การปรับใจให้อยู่ในภาวะปกตินั้น เป็นสิ่งที่ได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน “เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ที่จริงยิ่งกว่านั้นก็คือ มนุษย์ก็คือ มนุษย์เราจะทำใจได้หรือไม่นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่การฝึกฝน เรื่องที่ท่านอนให้นำมาเป็นหลักคิดเพื่อฝึกใจ เรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ แปลว่า สิ่งที่ควรพิจารณาบ่อยๆ มีอยู่ ๕ เรื่องคือ
                ๑. ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแกไปได้
                ๒.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
                ๓.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
                ๔.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
                ๕.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัวเราทำกรรมอันใดไว้จักต้องรับผลของกรรมนั้น
                ในชีวิตประจำวัน หากมนุษย์เราขยันนำเอาหลักทั้ง ๕ มาพิจารณาทุกขณะจิตที่คิด เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงสักเพียงไร ก็จะสามารถเก็บอารมณ์อยู่ ทำใจได้เหมือนนางมัลลิกา ที่เล่ามา เพราะคนเราจะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการฝึกเท่านั้น เรื่องดีๆ อย่างนี้ ท่านควรลองฝึกดูบ้างเป็นประจำ

.......................................