วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

ใจแม่



                “มารบ่มี บารมีบ่แก่ ลูกบ่ได้ฟังคำบ่นของแม่ ยากนักจักเป็นคน” เป็นสุภาษิตที่บางท่านอาจเคยได้ยินกันมาแล้วเมื่อสมัยยังเรียนหนังสือ และอาจลืมถึงความหมายไปแล้ว มาย้อนถึงความหมายกัน
                มาร หมายถึง อุปสรรคที่มาขัดขวางไม่ให้ทำในสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ ซึ่งตามปกติคนมักมองในแง่ร้ายฝ่ายเดียว แต่แง่ดีของมารก็คือเป็นเครื่องทดสอบความรู้ความสามารถและทดสอบศักยภาพของคนได้ด้วย
                บารมี คือคุณธรรมของคน ซึ่งจะแก่กล้าก็ด้วยมีมารเข้ามาขัดขวาง และสามารถขจัดมารนั้นได้
                คำบ่น หมายถึง คำว่ากล่าวตักเตือน คนที่เป็นบุตรธิดาจะเป็นคนดี คนเก่ง คนกล้า เป็นคนมีคุณค่า มีประโยชน์ก็ด้วยคำบ่นของแม่ ถึงบางครั้งจะตักเตือนหรือดุด่าด้วยถ้วยคำที่รุนแรง แต่ก็เพราะมีความรักและปรารถนาดีเป็นพื้นฐาน ดังมีเรื่องเล่าในอรรกถามงคลสูตรว่า
                แม่คนหนึ่ง ไม่อนุญาตให้ลูกเข้าไปเที่ยวในป่า แต่แม้จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ลูกก็ยังดึงดันจะไปให้ได้จึงเกิดโทสะตวาดไปว่า “ขอให้ควายป่าขวิดมันให้ตายเสีย” เมื่อลูกได้หนีเที่ยวเข้าไปในป่าได้เพียงพักเดียว ก็มีควายป่าดุร้ายไล่ขวิดจริงๆ จนเมื่อจวนตัว ได้ตั้งสัจจาอธิษฐานว่า “ปากของแม่พูดสิ่งใด ขออย่าให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น แต่ใจของแม่คิดสิ่งใดขอให้สิ่งนั้นเกิด” สิ้นคำอธิษฐาน ควายป่าก็หยุดนิ่งเหมือนถูกตรึงไว้กับที่ราวกับว่ามันมีใจเมตตาเหมือนแม่ที่รักลูก
                โดยการกระทำ แม่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนผู้หนึ่ง มีผิดมีถูก มีพลั้งมีเผลอเหมือนคนทั่วไป แต่โดยจิตใจแม่มีความรักที่ใครๆ ในโลกไม่สามารถมีให้ได้ ลูกที่ดีจึงไม่ควรเบื่อหน่ายเกลียดชังต่อคำบ่นคำสอนของแม่ แต่ควรน้อมรับด้วยความเคารพ เพราะนั่นเป็นมนต์วิเศษ วิเศษเพราะออกจากใจที่มีแต่ความรักอันบริสุทธิ์
............................................